จีนรื้อโครงสร้างทาทาสตีล ต่อท่อเจาะ “ตลาดอาเซียน”

HBIS บิ๊กเหล็กจีน ยกเครื่อง “ทาทาสตีล”เปลี่ยนชื่อ-ผู้บริหาร เล็งเพิ่มตลาดส่งออก โดดเล่นเมกะโปรเจ็กต์ EEC หลังขายหุ้นให้

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท Hebsteel HBIS Global Holding Pte.Ltd. (HBIS) ผู้ผลิตเหล็กเบอร์ 2 ได้เซ็นสัญญาควบรวมกิจการกับทาทาสตีลฯไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือน ปิดดีลสำเร็จ โดย HBIS เตรียมจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ (NEW JV CO.) ซึ่งโครงสร้างใหม่ทาง HBIS ถือหุ้นใน TSGH (ทาทาสตีลฯ) 70% และอีก 30% ยังคงเป็น Tata Steel Global Holding (ทาทา อินเดีย) และจะเปลี่ยนชื่อใหม่ จากนั้นจะส่งทีมผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ โดยมุ่งเพิ่มการผลิตในอินเดียมากขึ้น เนื่องจาก GDP อินเดียเติบถึง 7% ในช่วง 10-15 ปี ที่ผ่านมา คาดอีก 12-15 ปี จะมีความต้องการใช้เหล็กถึง 300 ล้านตัน จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากขึ้น

“ในระยะยาวทาทาฯมีแผนลงทุนในอาเซียนเช่นเดียวกับ HBIS การควบรวมกันครั้งนี้ทำให้ขายส่งเข้าจีนผ่านทาง HBIS ได้มากขึ้น ส่วนที่จะขายเข้าอินเดียก็จะผ่านทาง TSGH นอกจากนี้ HBIS ยังลงทุนใหม่ที่ฟิลิปปินส์อีกด้วย”

สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเหล็กลวดจาก 7-10% เป็น 11-12% ไปยังตลาดเป้าหมายหลักอย่างกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย อินเดีย รวมถึงมาเลเซียในบางช่วงเวลา จะส่งผลให้ไตรมาส 4 (ม.ค.-มี.ค. 62) จะกลับมามีกำไร หลังจากผลประกอบการเม.ย.-ก.ย. 2561 หรือ 9 เดือน ปีการเงิน 2562 ยอดขายสุทธิ 16,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.73% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 16,137 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) เหลือเพียง 474 ล้านบาท ลดลง 54.77% จากปีก่อนที่ 1,048 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท ลดลง 81% จากปีก่อนที่ 379 ล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตเหล็กทาทาฯหายไปถึง 50,000 ตันเพราะราคาเหล็กแท่งลดลงอยู่ที่ 2,170 บาท/ตัน ขณะที่ต้นทุนราคาเศษเหล็กยังสูง อีกทั้งความต้องการใช้เหล็กจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักของโลกลดต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากตุรกีและรัสเซียมายังอาเซียน

ปัจจุบันทาทาฯมีกำลังการผลิต 1.7 ล้านตันต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 40% หรือราว 1.1-1.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กประมาณ 18-19 ล้านตัน/ปี

นายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีลฯ กล่าวว่า บริษัทร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ซิโน-ไทย ช.การช่าง ส่งสินค้าเข้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนการขายเหล็กเข้าโครงการ 60% ของยอดขายทั้งหมด

“ภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ความต้องการและราคาเหล็กอาจเพิ่มขึ้นจาก 17.5 เป็น 18.5 บาท/กก.”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!