พณ.รับส่งออกปีนี้ชะลอ แต่ไม่ถึงขั้นแย่ แบงก์กรุงศรีห่วงเศรษฐกิจซึมยาวผลพวงเศรษฐกิจโลก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวในงานสัมมนา “มองโลก มองไทย: ทิศทางการส่งออก ปี 2562” จัดโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่โรงแรมคอนราดว่า ในปี 2561 สินค้าส่งออกในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีขนาดใหญ่ของไทย ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก แต่มีการชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากได้รับลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จนในไตรมาสสุดท้ายของปี สินค้าส่งออกทั้ง 2 กลุ่มติดลบ สะท้อนให้เห็นว่า ในฐานะที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบสูงจนดึงตัวเลขการส่งออกในกลุ่มสินค้าสำคัญลงมา โดยเรื่องนี้ สนค. ได้มีการดูแลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงต้นปี 2561 มีบางรายการที่ไปได้ดี อาทิ มันสำปะหลังที่ราคาดีขึ้น แต่ก็มีการปรับตัวลดลง ซึ่งก็ยังมองว่าในปี 2562 การส่งออกสินค้าเกษตรจะไปได้ดีหลายรายการ แต่อาจมีบางรายการที่มีปัญหาบ้าง ในแง่ของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฐ์ เม็ดพลาสติก ก็ทำได้ดีในปีที่ผ่านมา รวมถึงทองคำที่เป็นการส่งออกขนาดใหญ่ ก็ยังไปได้ดีด้วยเช่นกัน

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ตัวเลขการส่งออกสะสมยังถือว่าดี แต่ก็มีการชะลอตัวลดลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังทำการบ้านอยู่ จึงมองว่าการส่งออกของไทยยังไม่ถึงขั้นแย่ แต่มีการชะลอตัวบ้างเท่านั้น สำหรับคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยคือ จีน ในปี 2559-2560 การส่งออกเป็นบวกค่อนข้างมาก แต่ในปี 2561 ลดลง และในช่วงไตรมาสสุดท้ายติดลบ เป็นผลกระทบจากสงครามการค้า แต่การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีเป็นประเทศแถบอาเซียนและ CLMV ที่เริ่มมีการขยายตัวได้ดีมากขึ้น และเข้ามาเป็นคู่ค้าที่สำคัญแทน ซึ่งที่ผ่านมาคู่ค้าสำคัญของไทยจะเป็นประเทศในเอเชีย อาทิ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่ประเทศอื่นขยายตัวน้อยลงบ้าง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวในงานเดียวกันว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเผยการคาดการณ์จีดีพีโลกและจีดีพีของหลายประเทศลดลง จึงมองว่าจะสร้างความกังวลกับเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เนื่องจากการวิจัยของบริษัท คาดว่าจีดีพีของประเทศไทยจะโต 4.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงจากปีที่ผ่านๆ มาลงเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องการส่งออกในปีนี้ ที่คาดว่าจะโตประมาณ 4.5% ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ทุกคนรอให้มีการเจรจาร่วมกันของ 2 ประเทศอยู่ ซึ่งหากเจรจากันไม่สำเร็จ อาจมีการขึ้นภาษีอีก 25% และหากเข้าสู่ภาวะที่ดุเดือดมากขึ้น อาจจะขึ้นภาษีทุกรายการสินค้า 25% หากเป็นดังที่คาดการณ์จะทำให้ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การค้าของทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบ ส่วนผู้ที่จะได้ประโยชน์เป็นประเทศที่สามารถส่งสินค้าเข้าไปทดแทนในทั้ง 2 ประเทศได้

นายสมประวิณ กล่าวว่า สหรัฐฯต้องการให้จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพื่อลดดุลการค้าให้น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก ที่จะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ซึ่งหากทั้ง 2 ประเทศหันกลับมาทำการค้าร่วมกัน จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและจีนเป็นประเทศที่มีซัพพลายขนาดใหญ่มาก โดยถึงแม้การส่งออกของไทยจะดูไม่สูงมากนัก แต่มีมูลค่าขนาดใหญ่มาก ซึ่งในอนาคตเรื่องราคาสินค้าอาจไม่มีผลในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากนัก จะเปลี่ยนนำเรื่องคุณภาพจะเข้ามาเป็นอันดับแรกๆ ในการตัดสินใจแทน รวมถึงเทรนด์ความต้องการในอนาคต ที่ความสะดวกสบายในปัจจุบันอาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร และพฤติกรรมของคนในปัจจุบันก็ชื่นชอบสินค้าที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการและประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

“โดยจะมองเพียงคู่ค้าของประเทศตนเท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องมองไปถึงคู่ค้าของคู่ค้าของไทยด้วย เนื่องจากหากคู่ค้าของคู่ค้าไม่ซื้อสินค้าจากไทย ประเทศปลายทางก็จะดับ และประเทศไทยก็จะดับไปด้วย เพราะขาดคู่ค้าในการซื้อขายไป ทำให้มีความกังวลในสถานการณ์ระยายาวมากกว่า”

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์