ศิริ จิระพงษ์พันธ์ “คุยกันด้วยเหตุผลปรับแผน PDP ได้”

ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2018 อย่างหนักจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ไปจนกระทั่งถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเองก็ยังเสนอแนะขอให้มีการ “ทบทวน” แผน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบคำถามประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจุกตัวของโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม การพึ่งพาเชื้อเพลิงอย่างก๊าซ LNG ที่ผ่านการนำเข้า ตลอดจนการไม่มีมาตรการอนุรักษ์พลังงานในช่วง 14 ปีแรกของแผน ไปจนกระทั่งถึงการหายไปของปริมาณสำรองไฟฟ้าที่คาดว่าจะล้นเกินในช่วงปีแรก ๆ ของแผนไว้อย่างไร

Q : การเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

ถ้าถามผมว่า การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทไหนมีความมั่นคงก็ต้องตอบว่า ประเภทที่ผลิตได้ตลอดเวลา เรียกแล้วหรือสั่งการแล้วผลิตไฟฟ้าได้เลยและโรงไฟฟ้าประเภทนั้นใช้เชื้อเพลิงอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด คำตอบคือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็น LNG ก๊าซธรรมชาติจะมาจากอ่าวไทยก็ได้ จากอีสานก็ได้ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สุโขทัย ได้หมด

Q : Fix ค่าไฟ 3.60 บาท

ที่เรา fix ราคาค่าไฟขายปลีก (2561-2580 อยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาท/หน่วย) ได้ก็เพราะราคาต้นทุนก๊าซแน่นอน เราเพิ่งเซ็นสัญญาจากการประมูลแหล่งก๊าซในอ่าวไทย (กับบริษัท ปตท.สผ.ผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ) ไปในราคาต่ำ นั่นหมายถึงต้นทุนราคาก๊าซลดลงไปครึ่งหนึ่งเลยนะ จาก 3 หรือ 5 ปีที่แล้วใครจะสามารถรู้ว่าเราจะสามารถประมูลได้ถูกขนาดนี้

ต้องเรียกว่าถูกกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วถึงครึ่งหนึ่ง ราคานี้จึงเป็นราคาก๊าซที่เราใช้คำนวณจากต้นทุนที่เรารู้และสามารถคาดการณ์ได้แน่นอน ใช้สมมุติฐานเดียวกันแล้วเดินไปข้างหน้าและเราได้ก๊าซถูกลง มีปริมาณเยอะด้วย แล้วท่านไม่มีความมั่นใจเหรอ เราต้องเลือกความมั่นคงทั้งด้านปริมาณและราคา รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเราต้องดูรอบด้าน ฉะนั้น อะไรทำให้สิ่งแวดล้อมดีที่สุดก็คือ ก๊าซธรรมชาติ ไม่ใช้ถ่านหินจะดีกว่าหรือ เราอย่าไปขยายให้เกิดความขัดแย้งในสังคม คุณจะต่อต้าน คุณต้องตอบได้ว่า คุณจะจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอบคนอยุธยาอย่างไร และตอบสังคมอย่างไร

Q : จะจัดการความไม่ลงรอยอย่างไร

ผมไม่ได้บอกว่า จะไม่ปรับเปลี่ยนแผน PDP แต่ผมพยายามจะอธิบายให้ผู้ที่คัดค้านเข้าใจว่า แผน PDP ฉบับใหม่นี้มีเหตุและมีผลอย่างไร ถ้าหากมาคุยกันด้วยเหตุและผล เราก็สามารถปรับปรุงแผน PDP ได้เสมอ

Q : ทำไมไม่มีมาตรการอนุรักษ์พลังงาน

การอนุรักษ์พลังงานตามพีดีพีทำไมไปทำปีที่ 10 แล้ว 10 ปีแรกไม่อนุรักษ์หรือ(จากกรณี 14 ปีแรกของแผน PDP ไม่ปรากฏมาตรการอนุรักษ์พลังงาน) ผมถามว่าแผนอนุรักษ์พลังงานที่ผ่านมา 10 ปีได้ผลมาเท่าไร เราทำมาแล้ว 10-15 ปีแล้ว ถามว่าได้ผลมาเท่าไรในการดำเนินการแผนการอนุรักษ์

Q : ต้นทุนอนุรักษ์สูงไม่คุ้มหรือ

ไม่ใช่ เรายังศึกษากันอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ก็พยายาม เช่น อนุรักษ์ด้วยหลอดไฟฟ้าเบอร์ 5 แผนนี้ประสบความสำเร็จมาก

Q : แล้วทำไมจึงลดการอนุรักษ์

เราไม่ได้ลดสัดส่วนลง เรายังทำต่อเนื่องแต่ผลที่ได้ในการคอนทริบิวชั่นให้กับพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดมันเป็นเท่าไร ทำไปมากเยอะแยะ และต้องทำอย่างต่อเนื่องแต่ตัวเลข (อนุรักษ์พลังงาน) ที่ได้ไม่มาก ซึ่งตัวเลขเราบอกว่า ภายใน 20 ปีต้องทำได้เยอะกว่าปัจจุบันมาก ๆ ก็ยังต้องใช้ความพยายามอีกเยอะมากที่จะให้ได้ตัวเลขนั้น เพื่อไม่ให้คนใช้ไฟฟ้าในอยุธยาจ่ายไฟฟ้าแพง ก็ต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยีอะไรก็ได้ทำให้ค่าไฟไม่แพง

Q : คงต้องเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม

ไม่เกี่ยวกัน

Q : ทำไมแผนฉบับนี้ไม่บอกปริมาณสำรองไฟ

มันมีอยู่แล้วนะ เพียงท่านไม่เข้าใจ ทาง สนพ.ก็จัดทำอยู่แล้ว

Q : การปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม

เพราะเรามีภาวะการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในปีที่ผ่านมามากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ โดยผลิตเพิ่มขึ้น2.5 ล้านตัน/ปี จากปกติผลิตปีละ 2 ล้านตันและใช้ในการบริโภค 900,000 ตัน การผลิตไบโอดีเซล B7 อยู่ 1.2 ล้านตันก็อยู่ในภาวะสมดุล แต่ปีก่อนมีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เราเคยมีการส่งออกน้ำมันปาล์มปีละ 300,000 ตัน แต่ตลาดทั่วโลกทรุดตัวลงเพราะ EU เลิกซื้อน้ำมันปาล์ม ไปใช้เป็นวัตถุดิบ ทำให้ราคาตกจนกระทบต่อเกษตรกร รัฐบาลจึงมีมาตรการเร่งด่วนให้นำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ผลิตไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าบางปะกงจะเหมาะสมกว่า ค่าไฟไม่เพิ่มขึ้นเพราะใช้ร่วมกับก๊าซธรรมชาติครึ่งต่อครึ่ง สามารถใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ถึง 30,000 ตันต่อเดือน แล้วในเป้าหมาย 160,000 ตัน จะใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือนก็จะสามารถสร้างสมดุลได้ ในส่วนของน้ำมันดีเซล B20 ก็สามารถสร้างสมดุลได้ ทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำให้ใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นมาปีละ 500,000-600,000 ตัน (B20 ใช้ 15 ล้านลิตร/วัน) สามารถดูดซับส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบได้ทั้งหมด เราเป็นประเทศแรกในโลกที่มีน้ำมัน B20 ขายจำหน่ายทั่วไปในปั๊ม นี่คือมาตรการถาวรที่จะทำให้ราคาผลปาล์มอยู่ในระดับเกินกว่า กก.ละ 3.00-3.20 บาท

โดยรัฐบาลใช้งบประมาณกลาง 525 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ตัดกำไรของ กฟผ. 850 ล้านบาทเพื่อให้บริการสาธารณะ จะทำให้ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น หลังสิ้นสุด 6 เดือนผมคิดว่าเราไม่ขยายออกไปอีก เพราะมั่นใจว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบหายไปแล้ว 160,000 ตัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!