“ทิปโก้-โซล่า”หลุดข้อหาแข่งขันค้าไม่เป็นธรรม

เปิดตัวOTCC - เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส..านักงานแข่งขันทางการค้า(OTCC) จัดสัมมนา OTCC ส่งไม้ต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อเปิดแนวทางการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ปี 2560 แทนฉบับปี 2542

กขค.ประเดิมเคสแรกเคาะยุติศึกค้ายางมะตอย หลังไม่พบ “ทิปโก้แอสฟัลท์-โซล่าแอสฟัลท์” ใช้อำนาจเหนือตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ชี้เป็นการค้าปกติตามมาตรฐานกรมทางหลวง 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือบอร์ดแข่งขันฯ ได้พิจารณากรณีตามที่บริษัท ชินทรัพย์วัฒนา จำกัด ร้องเรียนบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด ว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมที่ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและอย่างเป็นธรรม โดยการปฏิเสธการจำหน่าย สินค้ายางพาราแอสฟัลต์อีมัลชั่นที่ใช้คาบผิวทางซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการการสอบสวนว่าให้ยุติเรื่องนี้ เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 รายไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25 และมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 (เดิม)

“จากข้อมูลการสอบสวนพบว่า สถานะของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 รายไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของการเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการค้าปกติของธุรกิจดังกล่าวที่มีการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายชัดเจน ซึ่งใช้กับลูกค้าทั่วไปทุกรายโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ และการคาบผิวทางยังต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมทางหลวงกำหนด ซึ่งจะต้องมีความพร้อมเรื่องเครื่องจักรที่ใช้ในการคาบผิวทาง และการกำหนดส่วนผสมที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน”

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ภายในงาน OTCC ส่งไม้ต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าว่า คณะกรรมการชุดใหม่จะเร่งปรับปรุงข้อกฎหมาย กฎระเบียบให้สอดรับกับเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันมากที่สุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) เฉพาะธุรกิจ โดยจะนำร่องในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจนี้ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในอาเซียน แต่ก็มีการร้องเรียนถึงปัญหาการแข่งขันไม่เป็นธรรม ดังนั้น ทาง กขค.เตรียมศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนำโมเดลจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ คาดว่าต้องเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

“ทางกขค.ต้องวางแนวทางเชิงรุก เพราะต่างประเทศมีผู้ร้องฟ้องกูเกิล เฟซบุ๊กว่าปิดกั้นธุรกิจโดยมีการวางเงื่อนไขจำกัดการทำธุรกิจ ขายสินค้าผ่านเครือข่ายดังกล่าว และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูง หรือกรณีขายซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการรายนี้และห้ามซื้อรายอื่น”

พร้อมกันนี้เตรียมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้วางระบบแจ้งเตือนผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด และการค้าไม่เป็นธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลในระบบเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า องค์กรต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเห็นเป็นรูปร่างในกลางปี

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้ากล่าวว่าคณะกรรมการอยู่ระหว่างจัดทำไกด์ไลน์เฉพาะธุรกิจ 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการจองที่พักโรงแรมผ่านออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากมีผลกระทบและมีการร้องเรียนมากที่สุด

พร้อมกันนี้ต้องเร่งดำเนินการคดีค้าง 10 คดีให้เสร็จภายในปี 2562 เนื่องจากกฎหมายใหม่กำหนดให้ดำเนินการคดีต้องเสร็จภายใน 1 ปี โดยคดีที่ค้าง เคสที่ยังค้างอยู่ เช่น 1) การค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง กรณีการใช้คูปอง 2) กรณีห้ามเอเย่นต์สุราจำหน่ายสุราชุมชน

3) โรงน้ำแข็งตกลงร่วมกันในการกำหนดราคาจำหน่าย 4) การค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจเครื่องจักรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต 5) การตกลงร่วมกันในธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ และ 6) ผู้ผลิตบล็อกแก้วชนิดใสรายเดียวของประเทศ กำหนดราคาขายต่อ (RPM) ของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น

“ล่าสุดบอร์ดได้ปิดคดียางมะตอยไปโดยคดีนี้ทางผู้ร้องได้ร้องบริษัทผู้ผลิตยางมะตอยสำหรับทำถนนว่าทำการค้าไม่เป็นธรรมโดยไม่ผลิตให้กับบริษัท แต่จากการสืบสวนและสอบสวนพบว่า บริษัทที่ถูกร้องทำธุรกิจเฉพาะเพราะการผลิตยางมะตอยทำถนนต้องผลิตพิเศษและต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท อีกทั้งบริษัทที่ถูกร้องไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด พิจารณาแล้วจึงเห็นว่าไม่ผิด”

นายสันติชัยกล่าวว่า ขณะนี้ีมีการร้องเรียนถึงการค้าที่ไม่เป็นธรรมเข้ามายัง กขค.ใหม่ 2 เรื่อง ได้แก่ การให้เช่าพื้นที่ในห้าง และสินค้าเกษตร อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการสอบสวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนา OTCC ส่งไม้ต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมให้ความสนใจกรณีการควบรวมกิจการของบริษัทลูกจากต่างประเทศที่อาจมีอำนาจเหนือตลาดว่าจะต้องมีการรายงานต่อ กขค.เพื่อพิจารณาอนุญาตควบรวมหรือไม่ ซึ่งทางคณะกรรมการชี้แจงว่า หากควบรวมและมีอำนาจเหนือตลาดก็เข้าข่ายต้องแจ้งตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า