ปมห้ามนำเข้าพาราควอตยื้อ 3กรรมการประชดยื่นลาออก

ผนึกกำลัง - เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมและผลกระทบจากการห้ามใช้กำจัดวัชพืช พาราควอตในภาคเกษตร
ศึกแบนนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเดือด กรรมการวิชาการ 3 คนยื่นลาออกจากคณะกรรมการชุด รมต.สุวพันธุ์ เหตุ 3 ปมร้าว ด้านกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ร้องจะเกิดความเสียหายขึ้นทันทีหากยกเลิกใช้สารพาราควอตกว่า 1.3 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา พร้อมด้วย ศ.พรพิมล กองทิพย์ และรศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูลได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอลาออกจากการเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยให้เหตุผลว่า กรรมการวิชาการที่ลาออกไปไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ โดยได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งที่เป็นรายงานสรุปรายงานการวิจัยต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ถูกบรรจุลงในวาระการประชุม

แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีการอ้างข้อร้องเรียนของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และข้อเสนอของสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง บรรจุในวาระการประชุม ครั้งที่ 1/2562 ทั้งที่องค์กรที่ยื่นคำคัดค้านนั้นเป็นองค์กรของสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิใช่ตัวแทนของเกษตรกร แสดงว่าเจตนาของคณะกรรมการนี้เป็นไปเพื่อสร้างแรงกดดัน ไม่ให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกทั้งจากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า กรรมการ4 คน ในคณะกรรมการชุดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 สาร คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการดังกล่าวไม่อาจทำให้การดำเนินงานและการประชุมสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรีได้

ขณะที่ นายสุกรรจ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ หวังว่าจะไม่มีการแบนสารเคมี 3 ชนิดเหมือนเดิม

ด้านนายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธานกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศกว่า 7 แสนไร่ มูลค่าส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท บริโภคภายในไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท แม้ว่าไทยจะส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานลดลง เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่อยู่ในโครงการประกันราคาของรัฐบาล ดังนั้น จำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เพื่อทดแทนพื้นที่เพาะปลูกลดลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาหากมีการห้ามใช้สารพาราควอต ต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท

ด้านการส่งออกปัจจุบัน กลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอตในกระบวนการผลิตไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพาราควอตตกค้าง แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอตส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออก

“หากมีการห้ามใช้พาราควอตจะส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบกว่า 1.3 หมื่นล้านดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติเดิม คือ ไม่แบนการใช้ 3 สารเคมี” นายคมกฤตกล่าว

นายวาทิน มงคลสารโสภณ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่าพาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ช่วยควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดยังไม่มีสารหรือวิธีการใดทดแทน ส่วนที่มองว่าอันตรายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้มากกว่า