ย้อนปม จำนำทุกเม็ด-จีทูจีฉาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลเลือกตั้งช่วงเดือน ก.ค. 2554 ที่พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่งจากการชูสโลแกน “ทักษิณ คิด เพื่อไทย ทำ” ชูนโยบาย “รับจำนำข้าวทุกเม็ด ตันละ 15,000 บาท” ซึ่งเป็นราคารับจำนำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังสูงกว่าราคาตลาดมาก ดันคนหน้าใหม่ทางการเมืองอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯได้สำเร็จ

แต่ไม่มีใครคาดคิดเช่นเดียวกันว่า จุดขายนโยบาย “จำนำข้าวทุกเม็ด” จะเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทย เพลี่ยงพล้ำ และถูกนำมาเป็นเหตุผลในการรัฐประหาร ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจ เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ล่าสุด โครงการรับจำนำข้าวยังพ่นพิษซ้ำ ทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ย้อนรอยโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ ดำเนินการทั้งหมด 5 รอบการผลิต นับตั้งแต่ปี 2554/2555 จนถึง 2556/2557 กับฤดูนาปรัง ปี 2554 และนาปรังปี 2555 เบ็ดเสร็จใช้เงินงบประมาณในการรับจำนำเกือบ 900,000 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แต่ไม่สำเร็จ ทำให้มีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำสูงถึง 55 ล้านตันข้าวเปลือก นำมาซึ่งหลากหลายปัญหา ถูกสืบสาวโยงและตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีปมทุจริต ทำให้รัฐเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะกลโกงตั้งแต่กระบวนการสีแปรข้าวของโรงสีและส่งมอบไปเก็บรักษาในคลังกลางเรื่อยไปจนถึงการระบายข้าว นำไปสู่ประเด็นปัญหาการระบายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (GtoG) สู่มือผู้ส่งออกภายใต้หน้ากากของรัฐวิสาหกิจจีน GSSG ซึ่งขายอุปกรณ์กีฬา ในปริมาณ 4-5 ล้านตัน มียอดรับมอบจริงเพียง 1.4-1.5 ล้านตัน แต่ยอดส่งออกไปจีนปรากฏเพียง 3.7 ล้านตัน ในสมัยนายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์

หลังเข้ามาบริหารประเทศ คสช.จึงเดินหน้าสะสาง ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวทันที ปรากฏว่าสรุปยอดขาดทุนจากโครงการรับจำนำ มูลค่า 510,000 ล้านบาท ขณะที่เหลือข้าวสารค้างอยู่ในสต๊อกรัฐบาล 18 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงได้ทยอยระบายข้าวออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการขาดทุนสะสมเรื่อยมาจนถึงการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 ปรากฏว่ายอดขาดทุนสูงถึง 607,000 ล้านบาท อีกทั้งข้าวในสต๊อกข้าวมีปัญหาเสื่อมสภาพ

ล่าสุด มิ.ย. 2560 รัฐบาลระบายข้าวสารค้างสต๊อกได้รวม 13.62 ล้านตัน มูลค่า 126,471 ล้านบาท

โครงการนี้ไม่เพียงแค่รัฐบาลเท่านั้นที่ขาดทุนจากการบริหารจัดการสต๊อก ในส่วนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมข้าวก็ต่างได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวแบบสุดโต่ง

ทำให้ราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่ง จนเสียแชมป์ส่งออกข้าว จากเคยเฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน ลดเหลือ 7-8 ล้านตัน ประกอบกับบริษัทผู้ส่งออกที่อยู่ภายใต้หน้ากากของรัฐวิสาหกิจจีนยังได้นำข้าวออกไปส่งออกต่างประเทศ โดยไม่รับผิดชอบด้านคุณภาพ ส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาด

นอกจากนี้การที่รัฐปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต โดยนำข้าวสารในสต๊อกออกมาบรรจุถุงในโครงการข้าวถุงฟ้า ก่อให้เกิดการทุจริตโครงการข้าวถุงธงฟ้า มีการนำข้าวถุงบนกลับออกมาจำหน่ายในประเทศทำลายตลาดข้าวถุง ส่งผลต่อผู้ประกอบการข้าวถุง ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยิ่งตกต่ำ

ทั้งหมดนี้ได้ย้อนกลับมาสร้างปัญหา ทำให้หนี้สาธารณะจากโครงการรับจำนำข้าวช่วงปลายยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์พุ่งขึ้นสูงสุด เป็นแรงกดดันทำให้ต้องประกาศลดราคารับจำนำข้าวในปีสุดท้ายจากตันละ 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาท

พร้อมกับเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล เพื่อนำเงินไปคืนกระทรวงการคลัง และนำเงินมาจ่ายให้ชาวนา เป็นค่ารับจำนำข้าวฤดูผลิตปี 2556/2557

คสช.เข้ามาสางปัญหา จ่ายเงินรับจำนำข้าวให้กับชาวนา ยุติโครงการรับจำนำข้าวภาคพิสดาร