ถกปัญหาเผาอ้อย ก.อุตฯระดมชาวไร่-โรงงานน้ำตาลพรุ่งนี้ หาทางแก้ หัก 30 บาท/ตันเข้ากองทุนฯอาจไม่พอ

ถกปัญหาเผาอ้อย ก.อุตฯระดมชาวไร่-โรงงานน้ำตาลพรุ่งนี้ (13 กพ.) หาทางแก้ หัก 30 บาท/ตันเข้ากองทุนฯอาจไม่พอ

จากปัญหาเรื่องของมลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง PM2.5 จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งได้มุ่งเป้าไปยังการเผาอ้อย หรือที่เรียกว่า “อ้อยไฟไหม้” แม้ว่าภาครัฐจะมีการรณรงค์ไม่ให้เผาอ้อย โดยการหักเงิน 30 บาท/ตัน เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดแทน แต่การเผาอ้อยก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 14.00 น. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประชุมหารือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้” โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน โดยมีผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อหารือและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ล่าสุดโรงงานน้ำตาล ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงานสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังชาวไร่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่อย่างหนัก ส่งผลให้ชาวไร่ใช้วิธีเผาอ้อยก่อนตัด พร้อมจับมือภาครัฐเดินหน้าโครงการ ‘Smart Farming’ รวมแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวไร่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ปัญหาไฟไหม้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องร่วมมือกัน เพื่อลดปัญหาเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม เนื่องจากอ้อยไฟไหม้มีผลทำให้คุณภาพอ้อยและยิดล์ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง และส่งผลเสียต่อกระบวนการผลิตโดยรวม ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อย ได้ร่วมกันรณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ทั้งการจัดหาสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ชาวไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประกอบกับปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้แก่โรงงาน จะถูกหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท เพื่อนำไปให้แก่ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนสัดส่วนการเผาอ้อยลงได้มากนัก อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาที่ชาวไร่อ้อยเผชิญอยู่

ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอ้อยไฟไหม้ โรงงานน้ำตาลจึงทำหนังสือถึง สอน. เพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน สำหรับจัดซื้อรถตัด และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยเฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20,000-25,000 ตันอ้อยต่อปี นอกจากนี้ โรงงานจะร่วมมือกับภาครัฐจัดทำโครงการ Smart Farming รวมแปลงเพาะปลูกให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลง โดยฝ่ายไร่ของโรงงานจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเพาะปลูก การดูแลรักษาและการจัดเก็บผลผลิตด้วยรถตัดอ้อย

“ที่ผ่านมา เรารณรงค์ให้ชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าสู่โรงงานและไม่สนับสนุนการเผาอ้อยมาตลอด โดยรับซื้อใบอ้อยเพื่อจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน หรือการเข้าไปค้ำประกันเงินกู้รถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาเผาอ้อยได้ เราจึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยไปช่วยเหลือชาวไร่จัดเก็บผลผลิต ซึ่งเชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้ดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์กล่าว