ชง ครม. ลดดอกเบี้ยให้สินเชื่อเครื่องตัดอ้อยเหลือ 1% คาดปี’64 ไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับทางผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่า เร็วๆนี้ สอน. เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหลือ 1% และขยายระยะเวลาผ่อนชำระคืนเป็น 9-10 ปี ภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2562- 2564 (ปีละ 2,000 ล้านบาท)

หลังจากที่ผ่านมารัฐได้มี “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ให้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมาแล้วก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ 2% ชำระคืน 7 ปี ผ่านทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ แต่ด้วยหลายจังหวัดยังคงมองว่า สินเชื่อดังกล่าวยังทำให้เกษตรเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

“รถตัดอ้อยของต่างประเทศมีราคาสูงถึงคันละ 12 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นรถตัดอ้อยของไทยจะมีราคาถูกลงหรือคันละ 6-7 แสนบาท และก็มีรถเครื่องอ้อย Raptor ตัวนี่ราคา 2-3 แสนบาทเท่านั้นก็จะทำให้ชาวไร่เกษตรกรมีกำลังพอที่จะซื้อได้”

ซึ่งจากโครงการสินเชื่อฯ ระยะที่ 1 (2559-2561) ที่ผ่านมา มีการอนุมัติวงเงินเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ซื้อรถตัดอ้อย/รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์/รถบรรทุกอ้อย ไปแล้ว 1,760 ล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณการเผาอ้อยลดลง 4-5% จาก 60.45% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบ 90 ล้านบาท เหลือปริมาณการเผาอ้อยอยู่ที่ 57.05% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบในปัจจุบันอยู่ที่ 120 ล้านบาท ดังนั้นหลายๆ มาตรการที่ออกมาคาดว่าจะทำให้ปี 2564 จะไม่มีการเผาอ้อย และจะไม่อ้อยไฟไหม้เข้าระบบ

สำหรับมาตรการ การลดปัญหาการเผาอ้อยระยะสั้น ได้ ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเข้าหีบในสัดส่วนอ้อยสด 60% ต่อวัน ส่วนอ้อยไฟไหม้ 40% ต่อวัน รวมทั้งขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และหน่วยงานในท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ในการตรวจจับไร่อ้อยในพื้นที่ จะเป็นอีกส่วนในการช่วยกันดูแลและป้องกันไม่ให้มีการเผาอ้อย
ส่วนมาตรการระยะยาว ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมชาวไร่คู่สัญญาในการจัดทำแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรอย่างครบวงจร และขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร การค้ำประกันแบบกลุ่มสำหรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญารายเล็ก หรือโครงการสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับการเกษตร รวมถึงให้โรงงงานน้ำตาลจัดทำแผนการลดไฟไหม้ในแต่ละฤดูการผลิตโดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!