ทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย เล็งปักธงEECลงทุน”การบิน-โลจิสติกส์”

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC
กระทรวง METI เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย หนุนหลังทัพนักธุรกิจญี่ปุ่น 33 ราย ดูลู่ทางอีอีซี เตรียมปักหมุดลงทุนอุตสาหกรรมการบิน ชิ้นส่วนอากาศยาน โลจิสติกส์ ชี้ตัวเลขอุตฯอากาศยานโตทั่วโลก รองเลขาฯอีอีซี เผยโปแลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล และจีน สนใจร่วมวงลงทุน news S-curve 

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา เจโทร หรือองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้นำคณะนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินจากประเทศญี่ปุ่น 33 ราย จาก 29 บริษัท เดินทางมาพบกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรับฟังนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงศึกษาลู่ทางความเป็นไปได้เพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมท่าอากาศยานและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยคณะนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาเยือนไทยครั้งนี้ มีทั้งนักลงทุนใหม่และกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว อาทิ บริษัท Heiwa Sangyo, Wada Aircraft Technology, Yoshimasu Seisakusho, Hada Seikou และ Fuji Manufactoring เป็นต้น

นายเคนสุเคะ ไซโต ผู้อำนวยการ สำนักอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและวัสดุอากาศยาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทยทั้งให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาตลอด และปีนี้ญี่ปุ่นปักธงให้อุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนในประเภทชิ้นส่วนหลัก (กลุ่ม tier 2) และชิ้นส่วนรอง (กลุ่ม tier 3) โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตมากที่สุดในโลก

ขณะที่ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ไทยจะมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นทางการ หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยมุ่งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ กลุ่มการลงทุนด้านซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซม (MRO) และการรับจ้างผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ (OEM) จะเป็นเป้าหมายที่ไทยจะผลักดันเป็นลำดับแรก ๆ ในอุตสาหกรรมการบิน

นอกจากนี้ ดร.ลัษมณเปิดเผยว่า คณะนักลงทุนญี่ปุ่นถือว่าเป็นกลุ่มแรกของปีนี้ที่เดินทางมาเยือนไทย และแสดงความสนใจชัดเจน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของ EEC มีแผนว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะเข้าหารือและไปโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ยังมีหลายประเทศที่แสดงความสนใจในอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ EEC ได้แก่ โปแลนด์ ฝรั่งเศส เม็กซิโก และบราซิล ส่วนนักลงทุนจีนส่วนใหญ่มุ่งความสนใจที่อุตสาหกรรมอนาคตอื่น (new S-curve) เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

คลิกอ่าน…โรดโชว์-มาตรการส่งเสริมลงทุน เอกชนเชื่อมั่นทำยอดขายที่ดินนิคมฯพุ่ง700ไร่ EEC กวาดไปเกือบ3,000ล้านบาท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!