ลุ้นสนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.โรงงาน ตั้ง “ThirdParty” ตรวจรง.แทนข้าราชการ

กระทรวงอุตสาหกรรมลุ้นสภานิติบัญญัติฯ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ปรับแก้นิยามโรงงานเพื่อแก้ประเภทกลุ่มโรงงานจำพวก 1 ให้เป็น 50 แรงม้า จากเดิม 5-20 แรงม้า โดยกระจายอำนาจการกำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลพร้อมกำหนดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ด้าน NGO หวั่นเปิดทางผู้ตรวจสอบบุคคลที่ 3 third party ตรวจโรงงานหละหลวม

หลังจากที่กลุ่ม NGO ได้แสดงความกังวลในการปรับแก้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ในประเด็นการควบคุมและจัดการการปล่อยของเสีย-สิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยไปแล้วนั้น ล่าสุดร่างฉบับดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในเรื่องของการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาเป็นผู้กำกับดูแลโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 (เครื่องจักร 5-20 แรงม้า และคนงาน 7-20 คน ประกอบกิจการโรงงานได้ทันที) กับโรงงานจำพวกที่ 2 (เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อนจึงจะประกอบกิจการได้)

นอกจากนี้ก็ยังมีแผนดำเนินการที่จะทำให้โรงงานจำพวกที่ 3 (เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า หรือคนงานเกิน 50 คน ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้) เปลี่ยนเป็นโรงงานจำพวก 1 และ 2 เพื่อมอบให้ อปท.กำกับดูแลต่อไปเช่นกัน รวมถึงการ “ยกเลิก” ต่อใบอนุญาตโรงงาน รง.4 จากเดิมที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตทุก ๆ 5 ปี แต่กำหนดให้ผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่ 3 หรือ third party เข้าไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมแทน ส่งผลให้ทางกลุ่ม NGO เกิดความกังวลและหวั่นเกรงว่า การไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน รง.4 และจัดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของโรงงาน-การปล่อยของเสียจนกระทบกับสิ่งแวดล้อม จะถูกปล่อยปละละเลยและไม่มีการรัดกุมเพียงพอ จากปัจจุบันที่มีเจ้าหน้าที่กรมโรงงานเข้ามาดำเนินการตรวจสอบตามแผนทุกปีอย่างต่อเนื่อง ก็ยังปรากฏข่าวการลักลอบปล่อยของเสียสร้างความเสียหายให้กับชุมชนอยู่

นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. …(ฉบับใหม่) จะใช้เวลาพิจารณาแก้ไขไม่เกินเดือนมีนาคม และในระหว่างนี้จะยังสามารถปรับเปลี่ยนในรายละเอียดได้ตามเห็นสมควรของ สนช. ส่วนการออกกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องของการจัดกลุ่มประเภทโรงงานใหม่ โดยเพิ่มกำลังแรงม้าและเรื่องผลกระทบเข้าไปเป็นปัจจัยในการจัดกลุ่มและให้หน่วยงานดูแล ซึ่งจะออกตามมาหลัง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เบื้องต้นจะกำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 1 มีขนาด 50 แรงม้า หรือคนงานเกิน 50 คน (ประกอบกิจการโรงงานได้ทันที) ส่วนโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เดิมอำนาจของการดูแลทางเทศบาลและ กทม.จะเป็นผู้รับแจ้งจดขยายและรับเรื่องร้องเรียนให้กับโรงงานจำพวก 2 ส่วน อปท.รับเรื่องร้องเรียนกับทุกประเภทโรงงาน จากนั้นจะประสานกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ การดูแลก็ยังเป็นเหมือนเดิม เพียงแต่กลุ่มประเภทโรงงานที่เปลี่ยนไปจะมีขนาดใหญ่หรือกำลังแรงม้ามากขึ้น” นายบรรจงกล่าว

ส่วนกรณีของการให้ผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่ 3 หรือ third party เข้าไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน อำนวยความสะดวก ลดภาระความยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการนั้น ก็เพื่อที่จะยกเลิกการขอ “ต่ออายุใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมประกอบกิจการโรงงาน” จากเดิมใบอนุญาตต้องต่ออายุทุก ๆ 5 ปีใน พ.ร.บ.โรงงาน เดิมได้มีการระบุถึงกระบวนการตรวจสอบโรงงานของผู้ตรวจสอบ third party ไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติ บทบาท หรือคำนิยามของ third party ที่ชัดเจน ดังนั้นใน พ.ร.บ.ใหม่นี้จะมีการกำหนดว่า third party คือใคร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเอกชนบุคคลรายเดียว นิติบุคคล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม ซึ่งจะกำหนดอำนาจหน้าที่ กลุ่มประเภทโรงงานที่ผู้ตรวจสอบ third party จะต้องเป็นผู้ดูแล

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่ 3 third party ส่วนใหญ่จะใช้กับโรงงานขนาดใหญ่เพราะมีค่าใช้จ่าย ส่วนโรงงานขนาดเล็กจะยังมีเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมลงตรวจตามแผนการตรวจที่เข้มงวดประจำเช่นเดิม ส่วนที่มองว่าโรงงานจะหละหลวมในเรื่องของการปล่อยมลพิษ หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะใช้ third party นั้น

“ทาง กรอ.จะเปลี่ยนหลักการเป็นให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเอง (self-declared) ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่า การประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแล ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงาน กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (third party) ไปทำการตรวจภายหลัง และเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการรับรองเท็จ แม้ว่าใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะไม่ต้องขอต่ออายุใบ รง.4 แต่ก็ยังคงกำกับดูแลเพื่อให้โรงงานมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน” นายทองชัยกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!