“โนนสุวรรณ” ทำยางเครปบาง ส่งออกจีน-หนีราคาตกเหลือ4โล100

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงพื้นที่ภาคอีสานถก 17 ผอ.กยท.รับมือราคายางดิ่ง หลุด 4 โล 100 ด้าน “วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรยางพารา อ.โนนสุวรรณ” เสนอบุรีรัมย์โมเดลนำร่องแปรรูปยางเครป มาตรฐาน GMP ส่งออกตลาดจีน หลังได้รับออร์เดอร์ 20,000 ตัน แต่ดันติดปัญหาเงินทุนขยายโรงงาน ขอกู้กองทุน CESS ยังไม่ผ่าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ในระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์นี้ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการ กยท. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราภาคอีสาน 20 จังหวัดจำนวน 50 คน ที่กลุ่มฐานเกษตรกร ยางพารา ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคายางแบบครบวงจร จากปัจจุบันสถานการณ์ราคายางลดลงเหลือ กก.ละ 25-26 บาท หรือเหลือเพียง 4 กก.ราคา 100 บาท จากช่วงปีก่อนที่ราคา กก.ละ 35 บาท และในบางพื้นที่มีการซื้อขายจริงกันแค่ กก.ละ 20-25 บาทเท่านั้น ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาราคายางพาราทั้งระบบด้วยการนำ “บุรีรัมย์โมเดล” การแปรรูปยางครบวงจรมาพัฒนา

ด้านนายธนากร จีนกลาง ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกร ฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ทางกลุ่มเตรียมเสนอให้ กยท.ใช้โมเดลของกลุ่มในการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีสมาชิก 210 รายได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต “ยางเครปบางสีน้ำตาล” ที่ได้มาตรฐาน GMP นำมาแปรรูปอัดแท่งเพื่อส่งออกแทนยางแท่ง STR แบบเดิม ทั้งยังได้มีการจดสิทธิบัตรรับรองยางเครปแผ่นบางเป็นรายแรกและรายเดียวของโลกด้วย

“ที่ผ่านมายางพาราไทยติดปัญหาเรื่องคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เน้นการผลิตเป็นยางแผ่นซึ่งจะมีปัญหาเรื่องอายุการเก็บรักษาสั้น มักจะขึ้นราหรือมักจะทำเป็นยางก้อนถ้วยถึง 70% ซึ่งมีปัญหาถูกพ่อค้าเอาเปรียบ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกลิ่นและปัญหาเรื่องการขนย้ายจากพื้นที่ แต่หากลงทุนผลิตเป็นยางเครปแผ่นบางนี้มีต้นทุนต่ำกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตในชุมชนไม่ต้องไปกองไว้ทีละมาก ๆ และขายได้ มีตลาดรองรับ ราคาถูกกว่ายางแท่ง STR 20 ประมาณ กก.ละ 2 บาท”

นายธนากรกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยางพาราโนนสุวรรณได้ทดลองนำยางเครปแบบบางไปทำตลาดส่งออก ปรากฏได้รับออร์เดอร์ขายให้กับผู้ผลิตยางล้อของประเทศจีนในปีนี้ปริมาณ 20,000 ตัน แต่ติดปัญหาไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ จำเป็นต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นทางกลุ่มเสนอขอวงเงินกู้กองทุน CESS จาก กยท.ประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ 200 ตันต่อเดือน คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในกลุ่มได้ 7 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี

“ตอนนี้เรายังไม่ได้รับอนุมัติจาก กยท. เนื่องจากยังติดประเด็นเงื่อนไขการใช้เงินจากกองทุน CESS และยังมีเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. และใบ รง.4 ซึ่งเกษตรกรรายย่อยที่มีกำลังการผลิตไม่มากไม่สามารถปฏิบัติได้ กำลังการผลิตเกิน 50 แรงม้า ฉะนั้นหากไม่ได้รับการพิจารณาเงินกู้ถือว่าเป็นการเสียโอกาสในการส่งออก ทั้ง ๆ ที่หาตลาดได้แล้ว เงินกองทุน CESS เก็บจากค่าธรรมเนียม กก.ละ 2 บาท ตอนนี้มีเงินอยู่ 2,000 ล้านบาท ผมอยากให้ทาง กยท.พิจารณาอนุมัติให้กลับมาสู่เกษตรกรชาวสวนยางบ้าง เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการแปรรูปยางก็จะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่นนำเงินจากกองทุน CESS มาบริหารจัดการเอง รัฐบาลไม่ต้องมาดำเนินนโยบายช่วยเหลือ โดยในภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกยางนับล้านไร่ เฉพาะบุรีรัมย์จังหวัดเดียวมีพื้นที่ปลูกประมาณ 40,000 ไร่” นายธนากรกล่าว

ด้านสถานการณ์ราคายางขณะนี้ในส่วนของ “ยางก้อนถ้วย” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ภาคอีสานนิยมทำกว่า 70% กำลังประสบปัญหาเรื่องราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 18 บาทใกล้เคียงกับปีก่อน แต่เกษตรกรขาดทุนเพราะต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น

รายงานข่าวจาก กยท.ระบุสถานการณ์ราคายางที่ผ่านมาเฉลี่ยราคาน้ำยางข้น กก.ละ 39.50 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 42.90 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 46 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ทรงตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2562 เนื่องจากในช่วงเวลานี้เป็นระยะเวลาที่มีการหยุดกรีด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!