นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันนี้ (14 ก.พ.2562) เป็นการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอแนะให้ห้ามการใช้พาราควอตในวันที่ 1 มกราคม 2563
และในระหว่างที่จะห้ามการใช้พาราควอต ได้เสนอแนะให้กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการควบคุมกำกับดูแลให้มีการใช้สารอย่างถูกต้องปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งกับเกษตรกร ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งมาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอ คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2561 โดยกรมวิชาการเกษตรต้องรายงานให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทราบผลการดำเนินการเพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะโดยเฉพาะการกำหนดให้ห้ามใช้ภายในวันที่
1 มกราคม 2563 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการพิจารณาข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรนำเสนอ และข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน การพัฒนามาตรการทดแทน ที่กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการ ร่วมกับข้อมูลและความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ
คณะกรรมการฯ ตระหนักและให้ความสำคัญถึงอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ในการยกเลิกการใช้
จึงได้พิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรการทดแทน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราควอต แต่อาจใช้มาตรการหลาย ๆ ด้านร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงเห็นว่า มาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการใช้ที่กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการ เมื่อประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 5 ฉบับ มีผลใช้บังคับ จะต้องมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ ในขณะที่กำลังดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม จึงมีมติให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินมาตรการที่เข้มงวดและมีผลในการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเร่งพัฒนามาตรการทดแทนเพื่อเป็นทางออกให้เกษตรกร