ดีลเลอร์โวยปตท. ขอปรับมาร์จิ้น 40 สตางค์

ดีลเลอร์ค้าน้ำมัน ปตท. โวยค่าการตลาดน้ำมันต่ำติดดิน ขอเพิ่ม 40 สตางค์ หลังต้นทุนค่าแรง-ต้นทุนสร้างปั๊มสูงขึ้น พร้อมจี้อย่าขยายปั๊มทับซ้อนกันเอง หนุน ปตท.ขยายร้านจิฟฟี่แทนเซเว่นฯ เหตุส่วนแบ่งกำไรถูกหั่นเยอะ

แหล่งข่าวจากผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ยื่นหนังสือไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาค่าการตลาด (Marketing Margin) ให้กับผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ใหม่ จากปัจจุบันที่ได้อยู่เพียง 90 สตางค์/ลิตร ให้ปรับเพิ่มอีก 40 สตางค์/ลิตร รวมเป็น 1.30 บาท/ลิตร เนื่องจากค่าการตลาดที่ได้รับไม่สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง คือ 1) ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 300 บาท แต่ในความจำเป็นต้องจ่ายอยู่ที่มากกว่า 350 บาท และ 2) การลงทุนเพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ ปตท.มีหลายขนาดตั้งแต่ระดับมาตรฐาน ไปจนถึงสถานีบริการขนาดใหญ่ ที่รวบรวมบริการที่มีความหลากหลายต้องลงทุนสูงถึง 70-100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าการตลาดที่ได้รับขณะนี้ถือว่าน้อยมาก เท่ากับว่าระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน จากที่ควรจะคืนทุนภายในระยะเวลา 7-10 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ค่าการตลาดน้ำมันของแบรนด์ ปตท.อยู่ที่เพียง 80 สตางค์/ลิตร มานานมากกว่า 10 ปี ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง ปตท.ได้ปรับค่าการตลาดเพิ่มขึ้นอีก 10 สตางค์/ลิตร โดยให้เหตุผลที่ไม่สามารถปรับค่าการตลาดเพิ่มเป็น 40 สตางค์/ลิตรได้ตามที่เรียกร้องมานั้น เนื่องจากดีลเลอร์ส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นในส่วนของธุรกิจค้าปลีก (Nonoil) ทั้งจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน

รวมไปจนถึงค้าปลีกอื่น ๆ ที่ร่วมมือกับพันธมิตร ในขณะที่ผู้แทนจำหน่ายน้ำมันมองว่า การจำหน่ายน้ำมันถือเป็นธุรกิจหลัก ที่ควรมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันรายอื่น เช่น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เชลล์ประเทศไทย จำกัด ให้ค่าการตลาดน้ำมันกับผู้แทนจำหน่ายถึง 1.30 บาท/ลิตร

“ในประเด็นค่าการตลาดนั้น มีการร้องเรียนไปถึง ปตท.หลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบัน เพราะเมื่อลงทุนแล้วก็หวังจะมีกำไร พวกเราทำธุรกิจกับ ปตท.มานาน ไม่อยากให้มีปัญหาบานปลายจนถึงต้องสร้างม็อบเรียกร้องเลย ซึ่ง ปตท.ต้องมองในประเด็นนี้ด้วยว่า เมื่อดีลเลอร์อยู่ได้ ปตท.ก็อยู่ได้เช่นกัน”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องค่าการตลาดน้ำมันแล้ว ในการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนจำหน่ายสถานีน้ำมันและ ปตท.เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้มีการนำเสนอให้ ปตท.พิจารณาใน 2 ประเด็นคือ 1) ให้ผู้แทนจำหน่ายสามารถเลือกขยายร้านสะดวกซื้อเองได้ระหว่างร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ หรือร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนขยายร้านเซเว่นฯมียอดขายที่ดี แต่เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งกำไรที่ผู้ค้าน้ำมันจะได้รับเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ในเมื่อ ปตท.เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่อยู่แล้ว ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และ

2) ในกรณีที่ ปตท.มีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมนั้น ขอให้ “หลีกเลี่ยง” พื้นที่ที่มีผู้แทนจำหน่ายดำเนินการอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีการเปิดสถานีบริการซ้ำซ้อนกัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงกรมธุรกิจพลังงานรายงานจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ไตรมาส 2 ของปี 2560 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 1,721 แห่ง และยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) สูงสุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 38