“กฤษฎา” สั่งปลัดเกษตร-อธิบดีกรมวิชาวิชาการ ทำแผนกำจัด 3 สารอันตรายใน 24 เดือน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ระบุ ด่วนที่สุด เรื่อง ขอให้จัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายอันได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในการทำเกษตรกรรม

ถึงปลักษ.และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องว่า

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ มีมติให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเพื่อจำกัดการใช้วัตถุอันตราย กล่าวคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทั้ง 3 ประเภทในการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติเดิมที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เคยลงมติไปแล้วประกอบกับ ขณะนี้ยังมีบุคคล และองค์กรบางกลุ่ม ออกมาเเสดงความเห็นทั้งคัดค้านและสนับสนุนมติดังกล่าวของคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย นั้น

เนื่องจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงเกษตรฯ ในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามมติดังกล่าว ที่จะนำไปสู่การยุติการใช้ภายในกำหนดเวลา 2 ปี หรือ 24 เดือน ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

จึงขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และส่วนราชการในสังกัด กษ.ดำเนินการดังนี้

1. ขอให้ กรมวิชาการเกษตรสรุป อำนาจหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ในการอนุญาต อนุมัติ การใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ รวมถึงขั้นตอน วิธีการ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงการดำเนินการตามมติ คกก. วัตถุอันตราย มีสาระรายละเอียดอย่างไร และในส่วนของกษ. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร โดยอ้างอิงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหากดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามมติ คกก.วัตถุอันตราย สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร

2. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมเป็น 2 ระดับโดยในระดับกระทรวงเกษตรฯ ให้ปล.กษ. เป็นประธานและอ.กรมวิชาการเกษตรเป็นเลขานุการคณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งมีส่วนราชการทั้งในกษ.และนอก กษ. ร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยให้เชิญองค์กรเอกชน และ/หรือ ภาคประชาชน มีส่วนร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยให้อาศัยกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นฐานในการออกคำสั่ง ทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดด้วยเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติในพื้นที่ โดยให้ประสาน มท. ขอให้ ผวจ.หรือ รอง ผวจ.ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดด้วย

3. ให้กรมวิชาการเกษตรร่างแผนงานปฏิบัติการตามขั้นตอนการจำกัดการใช้สารเคมีที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณาเพื่ออนุมัติให้หน่วยงานของกษ.ที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานขับเคลื่อนระดับจังหวัดนำไปปฏิบัติต่อไป

4. แผนงานดังกล่าวต้องแสดงให้เห็น ขั้นตอนและระยะเวลาปฎิบัติและวิธีการปฎิบัติ (timeline & implementation plan) โดยละเอียด ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติการเมื่อไหร่ และหน่วยที่งานเกี่ยวข้องทำอะไรที่ไหนหรือทำอย่างไรให้ชัดเจน (หลักการ Who, Do What, When, Why) พร้อมระบุหน่วยงานเจ้าภาพที่ต้องรับผิดชอบด้วย โดยให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามแผนทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้สามารถติดตามผลการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดให้เห็นผลสำเร็จภายใน 2 ปีหรือ 24 เดือนให้จงได้ หรือหากจำเป็น อาจประเมินผลเป็นรายไตรมาส

5. ข้อแนะนำในการจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทางเกษตรกรรมมีดังนี้

5.1 ภายในเดือนแรกให้มีการสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิดว่ามีจำนวนเท่าใด/บริษัท นิติบุคคล ใด หรือบุคคลรายใดครอบครองอยู่บ้าง /มีสถานที่เก็บที่ไหน และมีวิธีการจำหน่ายให้ผู้ใช้หรือเกษตรกรอย่างไร พร้อมทั้งให้ตรวจสอบสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ด้วยว่า ปัจจุบันมีอยู่เท่าไหร่ ใครครอบครอง และได้รับอนุญาตหรืออนุมัตินำเข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้ว กรมวิชาการเกษตร จัดการดูแลสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้อย่างไร

5.2 แผนปฏิบัติการควรครอบคลุมกลุ่มงานที่ต้องดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจน (Road Map) เช่น แผนงานอบรมผู้จำหน่าย/ผู้ใช้/ผู้ให้บริการฉีดพ่นยา แผนงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธีการ/แผนงานขยายพื้นที่เกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic) ที่จะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมทั้ง 149 ล้านไร่ต้องทำอย่างไร/แผนงานศึกษาเพื่อหาวิธีการอื่นๆ มาทดแทนการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ฯลฯ อย่างมีประสิทธิผล เป็นต้น

5.3 ให้มีการกำหนดวันเวลาแถลงผลการปฏิบัติงานตามแผนให้ประชาชนทราบทุกๆ 3 เดือน หรือตามที่จำเป็นเมื่อมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าของแผนงาน เพื่อให้ประชาชนทราบความก้าวหน้าในการจำกัดการใช้สารเคมีและเห็นภาพว่าเมื่อครบ 24 เดือนแล้วจะสามารถยกเลิกการใช้สารเคมีได้อย่างเด็ดขาดอย่างไร หรือมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรที่ต้องขอให้ความร่วมมือเกษตรกรหรือประชาชนให้ความร่วมมือเพื่อให้การเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

5.4 ดำเนินการอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร

อนึ่ง ขณะนี้กระแสสังคมปัจจุบันมีทั้งต่อต้านและสนับสนุนการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด จึงขอให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯถือว่าสถานการณ์ในครั้งนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการที่พวกเราจะได้แสดงความสามารถและศักยภาพทำงานแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี ทั้ง 3 ชนิดให้ประสบความสำเร็จให้จงได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์