เวียดนามทบทวน “Decree116” ลดตรวจรถยนต์นำเข้า

ครบ 1 ปี “เวียดนาม” จ่อทบทวนระเบียบนำเข้ารถยนต์ Decree 116 หลังยอดนำเข้ารถปี 2561 ลดลง 19% หวั่นต่อไปจะต้องตรวจสอบเข้มเรื่องสิ่งแวดล้อม และอัตราส่วนการใช้ชิ้นส่วนประกอบในอาเซียน ด้านยอดส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามยังพุ่ง 56% เหตุ 2 ประเทศเจรจาแก้ปัญหาจนเวียดนามยอมรับใบรับรองฝ่ายไทย ลดระยะเวลาการตรวจสอบลงกว่าครึ่ง

มีรายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เข้ามาว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเตรียมเสนอให้มีการปรับปรุงทบทวนการดำเนินการตามกฤษฎีกา 116 (Decree 116) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาครบ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้นำเข้ารถยนต์ต้องได้รับการรับรองประเภทยานพาหนะ (VTA) จากหน่วยงานภายในประเทศผู้ส่งออกเพื่อทราบแหล่งกำเนิดของยานพาหนะ ส่งผลทำให้การนำเข้ารถยนต์มายังประเทศเวียดนามโดยในปี 2561 มีการนำเข้ารถยนต์จำนวน 81,600 คัน หรือลดลง 19.8% จากปี 2560 ด้านมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 16.1%

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการนำเข้ารถยนต์กำลังจะได้รับการผ่อนคลายลง หลังจากรัฐบาลเวียดนามมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม สนับสนุนและแก้ไขปัญหาสำหรับผู้นำเข้ารถยนต์ โดยการดำเนินการขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาหน่วยงานของเวียดนามที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม ได้ทำงานประสานกับนักลงทุนและเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ควรศึกษาและทบทวนการตรวจสอบรถยนต์เพื่อความปลอดภัยด้านเทคนิคและปกป้องสิ่งแวดล้อม และให้กระทรวงการคลังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบอัตราส่วนการใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ (local content) ของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้มีการติดตามแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิต การค้า และการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) ของเวียดนามมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้มีการหารือในระดับนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ณ นครดานัง เวียดนาม ในเดือนพฤศจิกายน 2560

“จากการหารือ 2 ฝ่ายอย่างใกล้ชิด ทำให้ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายไทยพยายามให้หน่วยงานในประเทศออกใบรับรองตามระเบียบของเวียดนาม ส่งผลให้สามารถลดระยะเวลาตรวจสอบรับรองรถยนต์ลงได้ และในปีนี้ไทยยังคงผลักดันการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป ตอนนี้อาจยังไม่เคลียร์ 100% คือ ไม่ต้องตรวจรับรองทุกลอต ทุกชิปเมนต์ได้หรือไม่ หากมีเอกสารจากหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งทางบก ก็สามารถส่งออกได้ ดังนั้น จึงยังไม่ต้องทำ MRA” นางอรมนกล่าว

โดยยอดการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปเวียดนาม ในปี 2561 มีจำนวน 58,138 คัน หรือเพิ่มขึ้น 56.3% จากปี 2560 ที่มีจำนวน 37,193 คัน มูลค่า 33,972 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 70.2% จากปี 2560 ที่มีปริมาณ 19,962.2 ล้านบาท โดยเป็นยานยนต์ขนส่งบุคคลจำนวน 35,941 คัน เพิ่มขึ้น 273.4% จากปี 2560 ที่มีจำนวน 9,625 คัน มูลค่า 21,266.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 360.4% จากปี 2560 ที่มูลค่ามี 4,619 ล้านบาท ส่วนยานยนต์ขนส่งสิ่งของ มีจำนวน 22,197 คัน ลดลง 19.5% จากปี 2560 ที่มีจำนวน 27,568 คัน มูลค่า 12,705.8 ล้านบาท หรือลดลง 17.2% จากปี 2560 ที่มีมูลค่า 15,343 ล้านบาท

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามปี 2561 มีจำนวนประมาณ 40,000 คันนั้น “ต่ำกว่า” เป้าหมาย 65,000 คัน ที่คาดการณ์ไว้

ขณะนี้สถานการณ์ปัญหาการส่งออกจากระเบียบข้อบังคับของเวียดนาม (Decree 116) ได้คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว หรือจากที่กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้า ซึ่งเดิมใช้เวลานาน 7 สัปดาห์ ตอนนี้ก็ลดลงเหลือ 3-5 สัปดาห์ และเวียดนามยอมรับใบรับรองจากหน่วยงานของไทย จะช่วยทำให้การส่งออกทำได้ดีมากขึ้น โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามน่าจะมีจำนวน 65,000 คัน เท่ากับเป้าหมายของปีก่อน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!