เกษตรฯวุ่น! สั่งตรวจสอบสต๊อกสารเคมีซ้ำ ย้ำ 6 มาตรการแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอต

เกษตรฯวุ่น! สั่งตรวจสอบสต๊อกสารเคมีซ้ำ ย้ำ6 มาตรการแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอต กรมวิชาการเกษตรยันนโยบายลดการนำเข้าวัตถุอันตรายอย่างจริงจังมาตลอด ชี้ยอดนำเข้าปี’62 ลดลงร้อยละ 55

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผย ถึงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา กรณีที่ประชุมมีมติยังไม่แบนการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ต้องมีการขึ้นทะเบียน รวมทั้ง มีมติเห็นชอบมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย

ซึ่งล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตรเสนอใน 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการด้านกฎหมาย โดยเตรียมเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ การออกกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญในการประกาศควบคุม จำกัดปริมาณการใช้ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ ชนิดพืชที่ใช้ได้ เป็นต้น โดยห้ามใช้ในนาข้าวและพืชผัก แต่ยกเว้นพืชไร่พืชสวนบางชนิด เช่น อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น

2) มาตรการให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ โดยการอบรมให้ความรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนนำไปใช้มีองค์ความรู้ในการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งได้อบรมไปแล้ว 2 หลักสูตร ผู้เข้าอบรม 100 คนและเตรียมขยายผลในวงกว้างต่อไป

3) ให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาหาแนวทางเพื่อทางเลือกในการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีดังกล่าว รวมทั้งการหาแนวทางนำสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย 4) มาตรการติดตามและบันทึกข้อมูลการใช้วัตถุอันตรายอย่างเป็นระบบ 5) มาตรการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และ 6) มาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งได้เสนอขอรับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้แต่งตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงานระดับกระทรวง และวางแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีเจ้าหน้าที่กระจายอยู่ในระดับพื้นที่ โดยจะต้องมีการรายงานความก้าวหน้าทุก 3 เดือน สำหรับประเด็นการตรวจสอบสต็อกสารเคมีภายในสถานประกอบการนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดให้สารวัตรเกษตรลงพื้นที่สำรวจปริมาณสารเคมี แล้วรายงานกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาตรการลดการนำเข้าวัตถุอันตรายอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยสามารถลดการนำเข้า สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในปี 2562 ได้เท่ากับ 21,709 ตัน 48.501 ตัน และ 1,178 ตัน ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากสถิติเฉลี่ยการนำเข้า ปี 2557 ถึง 2559 คิดเป็นร้อยละ 25 (พาราควอตและไกลโฟเซต) และร้อยละ 55 ตามลำดับ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการ ทั้งงบประมาณ การขอความร่วมมือช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ซึ่งอาจช่วยให้ระยะเวลาดำเนินการเร็วขึ้น ใน 2 ปี (ธ.ค. 2563)

สำหรับรายละเอียดร่างประกาศ ที่กรมวิชาการเกษตรเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 อาทิ การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้ ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการพ่นสารเคมีจะต้องผ่านการอบรมก่อน รวมทั้งกำหนดให้มีการปิดฉลากที่เห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตราย ทั้ง ๓ ชนิดที่สื่อความหมายว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตมนุษย์ การประกาศเขตห้ามใช้/ครอบครอง/จำหน่ายสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในพื้นที่ต้นน้ำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนปริมาณที่เกษตรกรสามารถซื้อได้จะสัมพันธ์กับชนิดพืชที่ปลูกและจำนวนไร่ สอดคล้องกับที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!