สัปดาห์หน้าเคาะค่าแรงขั้นต่ำ ลูกจ้างลุ้นใช้อัตราใหม่ 1 เมษา

ลุ้นระทึกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ปลัดกระทรวงแรงงานแจงบอร์ดค่าจ้างกลางนัดถกยกแรกสัปดาห์หน้า ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจตัวแปรหลักทำค่าจ้างขยับขึ้นได้ไม่มาก หลายจังหวัดแห้วใช้อัตราเดิม วงในหวั่นเคาะไม่ทันเดือนเมษาฯ ต้องเลื่อนประกาศใช้บัญชีค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่เดือนพฤษภาฯ

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างฯ นำข้อเสนอที่อนุกรรมการค้าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะขอปรับขึ้นในปีนี้ไปพิจารณา ขณะนี้บอร์ดค่าจ้างกลางอยู่ระหว่างรอผลศึกษาจากคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว โดยกำหนดเดดไลน์ให้สรุปข้อมูลการขอปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลาง เสนอขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นบอร์ดค่าจ้างกลางจะออกประกาศบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ยังไม่เคาะขึ้นค่าจ้าง 4-8 บาท

พิจารณากระบวนการขั้นตอนในทางปฏิบัติแล้ว เร็วสุดบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะประกาศใช้ได้วันที่ 1 เมษายน หรือขยับเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ก็อาจเป็นไปได้ เนื่องจากไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาชัดเจนว่าต้องประกาศเมื่อใด เห็นได้จากบางปีมีการประกาศบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันที่ 1 มกราคม หรือ 1 เมษายน หรือ 1 พฤษภาคม เพียงแค่ปลัดกระทรวงแรงงานยังยันในหลักการว่าจะประกาศใช้ให้ทันภายในวันที่ 1 เมษายน

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เพียงแต่มีการหยิบยกตัวเลขตามข้อเสนอของบางจังหวัด ที่เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 1-2 บาท หรือ 4-8 บาท ขึ้นพิจารณา ส่วนบอร์ดค่าจ้างกลางจะเห็นว่าตัวเลขใดอยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรม และฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างยอมรับได้ ต้องรอมติที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางเป็นผู้ชี้ขาด

345 บาท/วันนายจ้างรับได้

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า หากมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานเป็น 360-365 บาทต่อคนต่อวัน ตามข้อเสนอของตัวแทนลูกจ้างบางกลุ่ม นายจ้างภาคเอกชนคงรับไม่ได้ เพราะมองว่าอัตราที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 345 บาทต่อคนต่อวัน เนื่องจากค่าแรงที่สูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า สงครามทางการค้า และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หากเกิดขึ้นจะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ติดลบ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7-8% จากปี 2561

รับเหมาหวั่นกระทบต้นทุน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการค่าจ้างกลางเปิดเผยว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มประชุมพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ และจะให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับขึ้น แต่จะปรับเป็นรายจังหวัด และยังไม่ทราบจะปรับขึ้นกี่บาท จากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 320 บาท/วัน และการปรับขึ้นคงจะไม่เท่ากับที่ลูกจ้างต้องการ 360-365 บาท/วัน เนื่องจากหากปรับขึ้นมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคบริการ

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ แต่ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องปรับขึ้น อยากให้พิจารณาในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคก่อสร้างแน่นอน โดยเฉพาะสัญญางานก่อสร้างโครงการเก่า อีกทั้งต้องการให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเข้าไปในราคากลางโครงการใหม่ที่จะเปิดประมูลตามไปด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงต้นทุนก่อสร้างอย่างแท้จริง

ดีเดย์ค่าจ้างใหม่ 1 เม.ย.

ขณะที่นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังยืนยันว่าการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 จะประกาศบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ตามเป้าหมายเดิม คือ ประกาศในวันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งขณะการพิจารณาตามขั้นตอนคืบหน้าไปมาก โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการกำลังเร่งสรุปตัวเลขค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขที่เสนอเหมาะสม เป็นไปตามสถาการณ์เศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ คาดว่าจะมีการหารือสัปดาห์หน้า และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างกลางภายในเดือนมีนาคม

เท่าที่ทราบในตอนนี้มีเพียงไม่กี่จังหวัดเสนอตัวเลขขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีการพูดคุยกันว่าเศรษฐกิจเหมือนจะดูดี แต่เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินสด ดังนั้น ปีนี้ค่าแรงขั้นต่ำคงปรับขึ้นจากเดิมไม่มาก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีจริง เป็นไปได้ที่หลายจังหวัดจะยังคงตัวเลขเดิมไปก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายังอยู่บนพื้นฐานที่ว่านายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอใจ

ใช้ 10 ปัจจัยหลักชี้วัด

ด้าน ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แต่ละจังหวัดเสนอมาของคณะอนุกรรมการวิชาการค่าจ้าง จะใช้สูตรกลางในการประเมิน โดยเอาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ การเติบโต อัตราค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ้างของนายจ้าง ตลอดจนตัวแปร 10 ข้อ มาใช้ร่วมกันวิเคราะห์ เมื่อได้ข้อสรุปจะส่งเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางในเดือนมีนาคม และเมื่อที่ประชุมบอร์ดไตรภาคีมีมติเห็นชอบจึงนำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 เสนอ ครม. ที่มีกระแสข่าวให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 360-365 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ในความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่ควรจะปรับเท่ากันทั้งหมด

เนื่องจากอัตราค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน รวมถึงศักยภาพของนายจ้าง และลูกจ้างในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันด้วย ขณะที่ตัวเลข 360 บาท ถือว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีข้อมูลและเหตุผลที่เพียงพอ เพราะถ้าหากปรับขึ้นสูงอย่างรวดเร็วอาจจะส่งผลกระทบ หรือมีความสุ่มเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แบ่งเป็น 7 อัตรา คือ โดยปรับขึ้นจากเดิมตั้งแต่ 8-22 บาท สูงสุดอยู่ที่ 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ ปริมณฑลอยู่ที่ 325 บาท/วัน ส่วนจังหวัดที่ได้ขึ้นน้อยที่สุด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี อยู่ที่ 308 บาท/วัน