‘เอดีบี’ เผยอาเซียนต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปีละ 2 แสนล้านดอลล์

นายราเมศ สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยในการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จำเป็นต้องส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน “สีเขียว” (green finance) และ “สีฟ้า” (blue finance) เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินที่เพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งอาเซียนต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมากคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคอาเซียนและต้นทุนการปรับตัวรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น งบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถลดช่องว่างนี้ได้ ดังนั้น อาเซียนจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นให้เกิดการระดมทุนจากภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งการใช้การคลังภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อระดมทุนจากตลาดทุนและดึงดูดนักลงทุนเชิงพาณิชย์กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกและในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย  (Thailand Future Fund) ช่องทางรวมเพื่อสร้างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia’s Sustainable Development Goals One platform) และกองทุนสีเขียวภายใต้กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility of the ASEAN Infrastructure Fund) เป็นตัวอย่างว่ากองทุนสาธารณะสามารถจัดหาเงินลงทุนผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน

“เราต้องการแนวทางในการจัดหานวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยลดความเสี่ยงในโครงการ และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาความท้าทายด้านพัฒนาต่างๆ ที่สำคัญ” นายสุบรามาเนียมกล่าว

นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการจะถูกรายงานไปยังการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการเงินการคลังและคณะทำงานจากธนาคารกลาง รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน การประชุมเชิงปฏิบัติเป็นการทบทวนความพยายามและเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อให้สภาพแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียนมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้ และการใช้กลยุทธ์การระดมทุนผ่านกองทุนสาธารณะกับโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงและดึงดูดนักลงทุนให้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความพยายามในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น

นางสาวเกตสุดากล่าวว่า การเงิน “สีเขียว” ได้ถูกนำเสนอว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ลดผลกระทบและช่วยในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติและการหมุนเวียนทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น การเงิน “สีฟ้า” ถูกกล่าวถึงว่าเป็นรูปแบบการระดมเงินทุนแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับมลพิษที่เพิ่มขึ้นจากพลาสติกและวัสดุอื่นๆ ในแม่น้ำและมหาสมุทรในภูมิภาค เป็นต้น

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์