ปรับสมดุลปาล์มน้ำมัน มาตรการชั่วคราวดันราคาขยับ 2.66 บาท

ผ่านมา 2 เดือน นับจากได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ระหว่าง นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ผ่านมา ทาง กฟผ.จะซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน ราคา กก. ละ 18 บาท เพื่อส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง

ล่าสุดกระบวนการจัดหาน้ำมันปาล์ม 1.6 แสนตัน มีผู้มาทำสัญญาขายแล้ว 22 ราย ปริมาณ 83,000 ตัน จากที่เสนอขาย 32 ราย ปริมาณ 1.1 แสนตัน แม้ว่าช่วงแรกจะมีกระแสท้วงติงเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกผู้ที่มาเสนอขายให้ กฟผ.ว่าเหตุใดบางรายเสนอขายปริมาณสูง และมีสต๊อกเพียงพอจะส่งให้รัฐบาลจริงหรือไม่ (รัฐกำหนดสัดส่วนให้ผู้ขายต้องมีสต๊อก 50% จากปริมาณที่เสนอขายและซื้อเพิ่มจากเกษตรกรอีก 50%) ตลอดจนข้อสงสัยเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขนย้ายต่าง ๆ ซึ่งทางกรมการค้าภายใน ในฐานะเจ้าภาพ ได้ชี้แจงถึงความโปร่งใสในการรับซื้อ และนำมาสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายในวัน 14 ก.พ. 2562

ซึ่งในวันที่ 15 ก.พ. 2562 ทางกรมการค้าภายในเปิดให้ผู้สนใจเสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.เพิ่มเติมอีก 50,000 ตัน เพื่อให้ทันก่อนจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกรกฎาคมนี้

ปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องปรับสมดุลเพราะภาวะการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในปีที่ผ่านมามากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตัน/ปี จากปกติผลิตปีละ 2 ล้านตัน และใช้ในการบริโภค 900,000 ตัน การผลิตไบโอดีเซล B7 อยู่ 1.2 ล้านตัน แต่ปีก่อนมีการผลิตเพิ่มขึ้น และดีมานด์การใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกน้ำมันปาล์มที่เคยทำได้ปีละ 300,000 ตัน แต่เพราะ EU เลิกซื้อน้ำมันปาล์ม ส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันทั่วโลกรวมถึงไทย

กฟผ.เสนอให้ใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งจะมีความเหมาะสมและไม่ทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น เพราะจะนำปาล์มน้ำมันมาใช้ร่วมกับก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 50 ต่อ 50 ซึ่งกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ถึง 30,000 ตันต่อเดือน เท่ากับว่า 6 เดือนได้ตามเป้าหมาย ควบคู่กับการปรับสมดุลโดยการนำไปใช้ผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล B20 อีก 15 ล้านลิตร/วัน ทั้ง 2 ส่วน จะทำให้ใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นมาปีละ 500,000-600,000 ตัน สามารถดูดซับส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบได้ทั้งหมด ช่วยให้ราคาผลปาล์มอยู่ในระดับเกินกว่า กก.ละ 3.00-3.20 บาท

ต่อ B20-ปิดจ็อบไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะส่งเสริม บี 20 ให้เป็นมาตรการถาวร โดยหลังจากขยายการให้บริการบี 20 ในสถานี ปตท.และบางจากในกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว อยู่ระหว่างการหารือกับเชลล์เพิ่ม และจะขยายการใช้ไปยังกลุ่มรถกระบะ ทั้งยังจะขยายระยะเวลาลดราคาน้ำมันบี 20 ต่ำกว่าดีเซลปกติลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 1 เดือน จากเดือนนี้ไปสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562

ขณะที่มาตรการผลักดันให้ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้า 1.6 แสนตันนั้น คงไม่ใช่เป็นมาตรการถาวร เพราะต้นทุนการผลิตไฟจากปาล์มน้ำมันสูงกว่าการผลิตจากวัตถุดิบอื่น ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณกลาง 525 ล้านบาท มาชดเชยค่าไฟให้ แทนที่ชดเชยการส่งออก กก.ละ 1.75 บาท ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ตัดกำไรของ กฟผ. 850 ล้านบาท เพื่อมาให้บริการสาธารณะ

ราคาผลปาล์มดีด 20 สตางค์

เมื่อการเซ็นสัญญาซื้อขายเสร็จสิ้น คาดว่าเอกชนจะเริ่มส่งมอบได้ต้นเดือนมีนาคม 62 คาดว่าราคาปาล์มน้ำมันจะมีการปรับขึ้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ปรับขึ้นมาเฉลี่ย กก.ละ 0.20 บาท อยู่ที่ กก.ละ 2.66 บาท จากช่วงปลายปีที่ราคา กก.ละ 2.41 บาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์มยังห่วงปัญหาระยะยาวที่คาดการณ์ว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันในปี 2562/2563 จะเพิ่มจาก 15 เป็น 16 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบล้นอีก ภาครัฐจะมีแนวทางการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!