4 กระทรวง ปลดล็อกปมร้อน โค้งสุดท้าย…ก่อนเลือกตั้ง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย “ร้อนแรง” ไม่แพ้สถานการณ์ทางการเมือง 4 กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างเร่งเครื่องสางปมขัดแย้งก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง

ผ่าน PDP

เริ่มจากกระทรวงพลังงานได้ผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 (PDP 2018) หลังจากที่ยกร่างมาอย่างยาวนานถึง 3 ปี โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ประกอบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงาน แต่กลับปรากฏเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่รอบคอบของแผน ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ LNG มากจนเกินไป ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน การไม่ยอมระบุปริมาณสำรองไฟฟ้าไว้ในแผน และการนำแผนอนุรักษ์พลังงานไปไว้ช่วงปีท้าย ๆ

หยุดเซฟการ์ดเหล็ก

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่ามกลางปมร้อนที่ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศ และผู้นำเข้าเหล็กมาใช้ในอุตสาหกรรมกำลังตอบโต้กันถึงกรณีที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) มีมติไม่ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard : SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและข้อกฎหมายตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกประเทศคู่ค้าใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าส่งออกอื่น จากการที่ไทยปกป้องผู้ผลิตเหล็กมานาน 6 ปี

อย่างไรก็ตาม 7 สมาคมผู้ผลิตได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติ คปป. โดยอ้างถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หากไม่ต่ออายุมาตรการ SG จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยไปไม่รอดนั้น

อย่างไรก็ตาม คปป.พิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 62 ตามมติเดิม เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงจากการไต่สวน และผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (hearing) ร่วม 91 ราย ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน

ทั้งนี้ คปป.ยืนยันว่าการพิจารณากรณีนี้มองถึงข้อเท็จจริงว่ามาตรการ SG เป็นมาตรการเยียวยาความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มิใช่มาตรการแก้ปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนไทยที่เป็นผลจากเหตุอื่น เช่น ปัญหาโครงสร้างการผลิต การบริหารจัดการ และการมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศมาก สุดท้ายความร้อนแรงของประเด็นนี้อาจยังไม่สิ้นสุด หาก 7 สมาคมตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ชะลอนำเข้ามะพร้าว

โค้งสุดท้ายในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รมว.กฤษฎา บุญราชกุมชะตาสินค้ามะพร้าว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ไขก๊อกปมร้อน “ราคามะพร้าว” ที่ยืดเยื้อมานานนับปี มีมติให้ออกประกาศระงับการนำเข้ามะพร้าวไปจนกว่าราคามะพร้าวภายในประเทศจะสูงขึ้นมากกว่าต้นทุนการผลิตลูกละ 7-8 บาท โดยขณะนี้มะพร้าวราคาลูกละ 5 บาทเศษ

ทั้งนี้จะมีการพิจารณาทบทวนให้มีการนำเข้าอีกครั้ง หากในเดือนเมษายนราคามะพร้าวปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าผลผลิตในประเทศปี 2562 มีปริมาณ 884,756 ตัน เพิ่มขึ้น 27,836 ตัน หรือ 3.25% จากปี 2561 ที่มีผลผลิตรวม 856,920 ตัน เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า กําหนดให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าควบคุมให้นําเข้าเพียง 2 ท่าเรือเท่านั้น คือ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง และต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามมาตรา 5 (6) ของ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และการนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า มติคณะกรรมการครั้งนี้ “ไม่เป็นไปตาม” มติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวซึ่งมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธานที่เสนอให้มีการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อมะพร้าวในประเทศก่อน 1 ส่วน เพื่อให้มีการนำเข้า 2.5 ส่วน แบ่งใน 2 ช่วงคือเดือน เม.ย.-พ.ค.และช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากมองว่าการกำหนดสัดส่วนนำเข้าจะไม่สามารถยกระดับราคามะพร้าวได้

ปมเหมืองอัครายังนิ่ง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าโค้งสุดท้ายของ “นายอุตตม สาวนายน”อดีต รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่สามารถสะสางประเด็นพิพาทระหว่างเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ยื่นร้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ด้วยเหตุผลที่ว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ปิดเหมืองทองคำโดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บริษัทคือสาเหตุของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรอบพื้นที่เหมืองหรือไม่

ล่าสุดเคสนี้ได้ผ่านกระบวนการหารือไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการตั้งคณะผู้พิจารณา ซึ่งไม่น่าจะทันในรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งนี้ และประเด็นนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่มีชีวิตประชาชนใน 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เป็นเดิมพัน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!