สินเชื่อเลิกเผา มาไม่ทัน ขอไร่อ้อยปี’64 เลิกเด็ดขาด

แฟ้มภาพ

การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62 หลายหน่วยงานดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในมาตรการระยะกลาง-ระยะยาว คือ การลดปัญหาการเผาอ้อย ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด ว่าเกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนการเผาเพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่า ในการประชุมร่วมกับทางผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาลมีมติให้ สอน. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหลือ 1% และขยายระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ตาม “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น จากระยะที่ 1 (2559-2561) มีการอนุมัติเงินไป 1,760 ล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณการเผาอ้อยลดลง 4-5% จาก 60.45% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบ 90 ล้านบาท เหลือปริมาณการเผาอ้อยอยู่ที่ 57.05% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบในปัจจุบันอยู่ที่ 120 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ สอน.ได้ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบ 60% ต่อวัน ส่วนอ้อยไฟไหม้ 40% ต่อวัน รวมทั้งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจติดตามป้องกันการเผาอ้อย

ส่วนมาตรการระยะยาว ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมชาวไร่คู่สัญญาจัดทำแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรอย่างครบวงจร และขอให้ส่งเสริมโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร การค้ำประกันแบบกลุ่มสำหรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญารายเล็ก รวมถึงให้โรงงานน้ำตาลจัดทำแผนการลดไฟไหม้ในแต่ละฤดู

ทั้งนี้ จากมาตรการที่ออกมาคาดว่าปี 2564 จะไม่มีการเผาอ้อย และจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าระบบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า มาตรการที่ สอน.สรุปออกมาเป็นไปตามที่ทาง 3 สมาคมได้ยื่นหนังสือเข้าไป โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและดอกเบี้ยสำหรับโรงงานน้ำตาลนำไปซื้อรถตัดอ้อยนำมาให้บริการกับเกษตรกร นอกจากนี้ยังขอให้เร่งบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาอ้อย และการหักลดราคาอ้อยที่เผาไปเพิ่มให้กับอ้อยสดด้วย


“มาตรการเหล่านี้คงบังคับใช้ไม่ทันปีการผลิต 2561/2562 เพราะขณะนี้ตัดอ้อยและเริ่มเผา เพื่อนำอ้อยเข้าโรงงานแล้ว 80 ล้านตัน เหลือ 40 ล้านตันจากผลผลิตที่คาดว่าจะมี 120 ล้านตัน จึงน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปี 2562/2563 ส่วนเป้าหมายการลดฝุ่นจากการเผาอ้อยให้หมดไปในปี 2564 เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเผาอ้อยทำมานานกว่า 10 ปี อาจจะทำได้เพียงแค่ลดสัดส่วนการเผาอ้อยจากปัจจุบันเผาประมาณ 64-65% ให้ได้ลงครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนจะทำให้หมดไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมาตรการระยะยาวด้านอื่น ๆ ที่ออกมาบังคับใช้ร่วมกันต่อไป”