ปรับกองทุน SMEs 2 หมื่นล้าน ลดปล่อยกู้รายย่อยเน้นรายใหญ่ 3-10 ล้าน

กสอ.ทุบ โต๊ะปรับสัดส่วนวงเงินปล่อยกู้กองทุน SMEs 20,000 ล้านบาทใหม่ ลดสัดส่วนปล่อยกู้รายย่อยต่ำไปกระจายให้รายใหญ่วงเงิน 3-10 ล้านบาท เพิ่มจาก 25% เป็น 50%

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีการปรับสัดส่วนของวงเงินปล่อยกู้เงินกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาทใหม่ โดยจำนวนวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ลดสัดส่วนเหลือ 50% จากเดิมกำหนดสัดส่วนไว้ 75% ส่วนจำนวนวงเงิน 3-10 ล้านบาท เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จากเดิมกำหนดสัดส่วนไว้ 25% ซึ่งเดิมนั้นต้องการเฉลี่ยให้เงินช่วยเหลือเข้าถึง SMEs ได้กระจายครบทั้งหมด แต่พบว่าวงเงินไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนขยายกิจการหรือสั่งซื้อเครื่องจักร ใหม่ และด้วยบางจังหวัดวงเงินที่กระจายลงไปยังเหลือ ดังนั้น จึงต้องปรับตามที่ SMEs ร้องขอ ทั้งนี้ เงื่อนไขยังคงเป็นเช่นเดิม คือ กองทุนสามารถปล่อยให้ SMEs แต่ละรายไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ระยะชำระคืน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก

นอกจากนี้ ได้มีการปรับขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวงเงินกองทุนให้เร็วขึ้น เนื่องจากขั้นตอนเดิมหลังจาก SMEs ยื่นคำร้องเข้ามา จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ดังนั้น เพื่อให้อนุมัติวงเงินได้รวดเร็วขึ้น จะให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์การเงินชุดที่ 2 เข้ามาพิจารณาวงเงินให้กู้และสรุปผลการวิเคราะห์ทางการเงินตั้งแต่ SMEs ยื่นคำร้องเข้ามา โดยจะทำคู่ไปพร้อมกับคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนชุดที่ 1

เดิมขั้นตอนการพิจารณาจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนชุดที่ 1 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คัดเลือก กลั่นกรอง และวิเคราะห์ศักยภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนดตาม นโยบาย/ยุทธศาสตร์จังหวัดก่อน จากนั้นส่งต่อให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์การเงินชุดที่ 2 ซึ่งมีอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนสถาบันการเงินเพื่อวิเคราะห์การเงินแล้วจึงอนุมัติ ส่วนรายที่ไม่ผ่านส่งต่อไปคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ชุดที่ 3 ซึ่งมีผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาจนกว่าจะมีศักยภาพตามเกณฑ์

“การปรับจะเร่งให้การอนุมัติวงเงินได้เร็วขึ้น และทำให้รู้ว่า SMEs รายใดยังไม่มีความพร้อมต้องมีการพัฒนาให้เกิดศักยภาพก่อน ที่ผ่านมามีผู้ไม่ผ่านพิจารณาจากอนุกรรมการชุดที่ 2 และส่งต่อไปให้อนุกรรมการชุดที่ 3 ประมาณ 10% จากยอดคำขอทั้งหมดกว่า 2,900 ราย โดยมีกิจกรรมพัฒนาเตรียมไว้ อาจใช้เวลาอบรมระยะสั้น 3 วัน เพื่อให้เรียนรู้วิธีการที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพก่อน จึงยื่นคำขอเข้ามาใหม่”

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายที่จะตั้งกองทุน 20,000 ล้านบาทเป็นกองทุนถาวร โดยออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมารองรับนั้น ได้มีการหารือไปที่กระทรวงการคลังแล้ว 2 ครั้ง ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งคงไม่ทันปี 2560 ขณะที่การขอเพิ่มวงเงินสำรองเผื่อไว้ในปีถัดไปกรณีที่กังวลว่าเงินกองทุนไม่ พอนั้น มีแผนไว้แล้วแต่ยังไม่เสนอไป เพราะยอดคำขอการอนุมัติของกองทุนขณะนี้มีเพียง 992 ล้านบาท จากยอดรวม 20,000 ล้านบาทถือว่ายังน้อย หากจะขอเงินเพิ่มทางกระทรวงการคลังคงไม่อนุมัติ ดังนั้น ต้องรอให้การอนุมัติเงินเกิน 50% หรือประมาณ 10,000 ล้านบาทก่อน จากนั้นจึงขอเพิ่มวงเงินเข้าไป และการปรับขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวงเงินใหม่ที่เร็วขึ้น น่าจะมียอดอนุมัติเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท/เดือน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ล่าสุดมี SMEs เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ประมาณ 80 ราย วงเงินกว่า 200 ล้านบาท อนุมัติวงเงิน 3-4 ล้านบาท/ราย ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาที่ทางสถาบันการเงินกำหนด จึงได้หารือเพื่อหาวิธีและเครื่องมือทำให้ SMEs ผ่านและเข้าถึงเงินให้มากขึ้น