“พาณิชย์” เล็งเห็นคุณสมบัติพิเศษของชาไทย เตรียมส่งเสริมชาไทยออกสู่ตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะไทยทำกับอาเซียน และจีน ที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ได้มีการลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชาจากไทยเหลือ 0% ซึ่งช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสในการแข่งขันของชาไทย แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตชาด้วย ตั้งแต่การปลูก การเก็บใบชา ไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของชาไทยในตลาดโลก

“ชาเชียงราย” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ แสดงถึงความพิเศษของชาที่ปลูกในพื้นที่นี้ที่มีสภาพดิน อากาศ ระดับความสูง ความลาดเอียงของพื้นที่ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้ได้ชาที่มีความพิเศษและแตกต่างจากชาที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ ในโลก จึงถือเป็นโอกาสที่จะร่วมกันสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้กับตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ชาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ มากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย โดยนอกจากไทยจะส่งออกใบชาแล้ว ยังมีการนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชา เช่น ชาผงสำเร็จรูป ชา 3 in 1

ในปี 2561 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 9,078 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.73 ในปีเดียวกัน (2560) ไทยนำเข้าชา 11,639 ตัน จากประเทศ จีน (ร้อยละ49) เวียดนาม (ร้อยละ25) และเมียนมา (ร้อยละ11) ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยลดภาษีนำเข้าใบชาจากอาเซียนเหลือร้อยละ 0 แล้ว สำหรับประเทศคู่เอฟทีเออื่นๆ เช่น จีน ไทยยังไม่ได้ลดภาษีใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อื่นๆ กล่าวคือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ภายใต้ปริมาณ 625 ตัน ต่อปี

ดังนั้น หากมีการนำเข้าเกินปริมาณโควตาดังกล่าว จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90 ขณะที่ประเทศคู่ค้าของไทยที่สำคัญ อาทิ จีน ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้แก่ไทยแล้ว และประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้แก่ไทยแล้วเช่นกัน ยกเว้นเมียนมาที่ยังคงภาษีนำเข้าใบชาอยู่ที่ร้อยละ 5