“ส.อ.ท.” ขอ สนช.เบรก พ.ร.บ.ซากอิเล็กทรอนิกส์ หวั่นรับภาระจัดการซากเก่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่ไหว

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญขยายเวลาการพิจารณา เพื่อทบทวนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…… ครั้งที่ 1 ออกไปอีก 45 วัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากร่างฯ ดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ผลิต จัดตั้งศูนย์รับซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดเก็บ รวบรวม นำส่งให้กับโรงงานประเภท 101 (กิจการโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม) และ 105 กิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อกำจัดให้เป็นระบบ

และขอให้มีการระบุความชัดเจนของ คำว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ซากฯ ตามมาตรา 5 ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น ให้ชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยอะไรบ้าง จอ CPU คีบอร์ต เม้าท์ และอะไรบ้าง หรือตู้เย็น ครอบคลุมไปถึงตู้แช่หรือไม่ เป็นต้น

“เราเห็นด้วยกับร่างฯ แต่มันยังมีบางข้อที่เราพยายามได้เข้าไปชี้แจงถึงทางปฏิบัติที่ยังคงทำได้ยาก อย่างการให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องรับผิดชอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นซากถูกทิ้งนานมาแล้ว เช่นเมื่อ 50 ปีก่อนผู้ผลิตรายนี้ยังผลิตคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ปัจจุบันไม่ผลิตแล้ว แต่กลับต้องมานั่งรับผิดชอบซากเก่าที่ตกค้างมา หรือที่เรียกว่า ซากที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใช้บังคับ (Yesterday waste) ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนเลย เพราะรัฐไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบเลย เรื่องนี้มันจะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุน ที่ลงทุนอยู่แล้วในไทยตอนนี้ ที่อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านและจะกระทบต่อการจ้างงานต่อเนื่องราวกว่า 750,000 คน”

นอกจากนี้ระยะเวลาที่บังคับใช้ใน พ.ร.บ.ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปีจากร่างเดิมกำหนดไว้ 1 ปี หลังจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของอนุบัญญัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมการ ภายหลังจากได้ทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว

ขณะเดียวที่ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นต้น และควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.