1 ปีลอยตัวราคา “น้ำตาล” ผลพวงไทยถูกบราซิลฟ้อง WTO

จากความกดดันที่ “บราซิล” ยื่นขอหารือกับไทย (Consultation) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 ในประเด็นไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก รองจากบราซิล ใช้นโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลง WTO ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก

พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 การกำหนดระบบโควตาน้ำตาลของไทย ซึ่งได้จัดแบ่งเป็นโควตา ก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย) โควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) ซึ่งมีกำหนดทั้งปริมาณและราคา ตลอดจนโครงการช่วยเหลือชาวไร่ ด้วยการกำหนดราคารับซื้ออ้อย และการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาล จูงใจให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น

ประกาศลอยตัวราคา

ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลว่า หากไทยแพ้บราซิลในการฟ้อง WTO จะต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล หลายฝ่ายได้มีการวางแนวทางแก้ไขร่วมกัน นำมาสู่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการ

ประกาศ “ลอยตัวราคาน้ำตาล” ของไทย อย่างเป็นทางการ กล่าวคือ ไทยยกเลิกระบบโควตา และการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ ส่วนวิธีการคำนวณราคาอ้อยให้กับชาวไร่นั้น ได้อาศัยกลไกอิงราคาน้ำตาลโลก หรือลอนดอน No.5 บวกพรีเมี่ยม

“นายสมชาย หาญหิรัญ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลไกราคาน้ำตาลในประเทศอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งจะแข่งขันกันตามความเป็นจริง เป็นการส่งสัญญาณว่าไทยมีเจตนาในการพยายามปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย และแสดงบทบาทให้โลกเห็นว่า ไทยยอมรับในกติกาการแข่งขันโลก ควบคู่ไปกับการแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. … ซึ่งเมื่อกฎหมายเสร็จ บวกกับการปรับโครงสร้างอ้อยฯ ทั้ง 2 ส่วนถึงจุดที่ปฏิบัติได้จนสอดรับกัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยระบบจะสมบูรณ์

พาณิชย์ถอดบัญชีสินค้าควบคุม

ขณะที่การควบคุมราคาขายปลีกน้ำตาลนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้ถอดสินค้าน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม จากเดิมกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้สินค้านี้เป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้จำหน่ายปลีกได้ในราคาไม่เกิน กก.ละ 23.50 บาท โดยจะมีการส่งเงินเข้ากองทุนอ้อย กก.ละ 5 บาท

โดยภายหลังจากการลอยตัวราคาน้ำตาล ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวขนาด 1 กก. ในห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด พบว่า น้ำตาลทรายขาวบรรจุถุงทั้งแบรนด์มิตรผล วังขนาย ลิน เคบีเอส เทสโก้ และษฏา จำหน่ายอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ กก.ละ 21.50-22 บาท

ชาวไร่รายได้ลด-ต้นทุนทรงตัว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ราคาตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย ประมาณ 1 บาท แต่ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ทรง ๆ ตัวอยู่ วันนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบอย่าง อุตสาหกรรมน้ำดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร/เบเกอรี่ ซึ่งแม้ว่าระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่จะอยู่ที่ 70 : 30 ก็จะมีรายได้ลดลงจากราคาขายน้ำตาลที่ลดลง ขณะต้นทุนยังเท่าเดิม ชาวไร่อ้อยเองก็ต้องยอมรับกติกาและกลไกที่มันได้ขับเคลื่อนไป

สต๊อกน้ำตาลโลกลด ปี”63 ราคาสูงขึ้น

ด้าน นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายว่า คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี”61/62 อ้อยเข้าหีบน่าจะมีปริมาณลดลงจากฤดูการผลิตปี”60/61 จากสภาวะทางอากาศที่แปรปรวน บวกกับการบริโภคน้ำตาลที่อาจจะลดลงเล็กน้อย จากการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพและที่มีการผลักดันเก็บภาษีความหวาน ขณะเดียวกันได้คาดการณ์ว่า supply จะมากกว่า demand ส่งผลให้สต๊อกของโลกที่ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านตัน จะลดลง 1-2 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาตลาดโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่จะยังไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในประเทศในทันที

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังลอยตัวราคาน้ำตาล ทางสมาคมอยู่ระหว่างประมวลผลที่ผ่านมาตลอด 1 ปี โดยรวบรวมข้อมูลเชิงบวกและลบ เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แน่นอนว่าจะได้เห็นราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลง เพราะสต๊อกน้ำตาลยังมีปริมาณมากสูงถึง 10 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ London No.5 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานยังทรงตัว กก.ละ 17-18 บาท

จับตาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล 

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวราคาน้ำตาลนับว่าเป็นผลดี แต่ก็ยังมีองค์ประกอบและเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย รายได้ขึ้นลงเป็นลูกระนาด ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนี้ยังถือว่ามีรายได้ที่ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงทรงตัว แน่นอนว่าการลอยตัวในระยะแรก ระบบและกลไกเดิมของไทยที่ใช้อยู่ยังไม่เข้าที่ และอยู่ระหว่างการปรับตัวอยู่นั้น ในขณะที่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขหลังจากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 ไปแล้ว

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ การกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์วัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อย เช่น การนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น เอทานอล ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งระบบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่จากนี้จะไม่ใด้มีเพียงการสร้างรายได้มากขึ้น แต่ก็จะนำมาสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่ด้วยหรือไม่

บราซิล เลิกตั้ง Panel

และนับได้ว่าภายหลังจากมีการหารือ (Consultation) กระทั่งไทยประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลถือว่าเป็นความสำเร็จ เพราะขณะนี้บราซิลระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษา (Panel) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 เนื่องจากพอใจการแก้ไขปัญหาทั้งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามกลไกตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด (Reserve Stock) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขที่สอดคล้องตามข้อตกลง WTO แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางบราซิลยังจะติดตามการดำเนินการของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยต่อไป