ไทยถก ‘มาเลย์-อินโด’ ดันราคายางเกิน 50 บาท/ก.ก. เล็งชะลอส่งออก-ลดพื้นที่ปลูก

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) สมัยพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเทศสมาชิก คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมจาก 3 ประเทศ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ในวันที่ 4 มี.ค. 2562 โดยที่ประชุมสรุปข้อเสนอของทั้ง 3 ฝ่ายออกเป็น 5 เรื่องดังนี้คือ 1. มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง จะพิจารณาร่วมกัน ซึ่งมีปริมาณระหว่าง 200,000-300,000 ตัน 2. มาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศของทั้ง 3 ประเทศ

3. มาตรการลดพื้นที่การปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนพร้อมๆ กัน ทั้ง 3 ประเทศ เพื่อบริหารจัดการผลผลิตใน (Supply Management Scheme : SMS) 4. การจัดตั้งตลาดกลางเพื่อซื้อขายยางพาราในตลาดซื้อขายจริง และตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยเป็นตลาดที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างภูมิภาค (Regional Rubber Market : RRM) เพื่อใช้เป็นตลาดกลางซื้อขายยางพาราและการซื้อขายล่วงหน้า และ 5. การตั้งสภายางแห่งอาเซียน (ASEAN Rubber Council : ARC) เพื่อเป็นเวทีให้ทั้ง 3 ประเทศมาพูดคุยกันตั้งแต่การแปรรูปยางพารา การศึกษาค้นคว้า งานวิจัย หรือเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นต้น

“ทั้ง 5 มาตรการจะมีการหาข้อสรุปร่วมกันในวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งทั้ง 3 ประเทศจะทำทุกมาตรการพร้อมๆ กัน เพื่อให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งปีก่อนหน้า 3 ประเทศ มีการจำกัดการส่งออก ในปี 2561 จำนวน 3.5 แสนตัน ไทยจำกัดปริมาณการส่งออกได้ 2.3 แสนตัน อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย 2 หมื่นตัน ดังนั้นรอบนี้ ทั้ง 3 ประเทศคาดว่าจะจำกัดปริมาณการส่งออก 3 แสนตัน หากคิดตามส่วนผลผลิต ไทยน่าจะต้องจำกัดการส่งออกปริมาณ 1 แสนตัน แต่ทั้งนี้ ต้องให้ระดับเจ้าหน้าที่ไปหารือกันก่อน”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในที่ประชุม ทั้ง 3 ประเทศได้หารือเรื่องของการรักษาเสถียรภาพราคา โดยการเพื่อร่วมกันหามาตรการกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพและเป็นธรรม หากได้ข้อสรุปรัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศจะดำเนินการแก้ปัญหาราคายางอย่างเร่งด่วน เนื่องจากราคายางใหม่ปี 2561 มาจนถึงต้นปี 2562 ราคาค่อนข้างต่ำ ส่งผลต่อราคาและกระทบความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางนับ 1 ล้านคนใน 3 ประเทศ

“ความคาดหวังของ 5 มาตรการ ราคาจะไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เกษตรกรขาดทุน หรือราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต”

ทั้งนี้ ในการหารือไทยได้แลกเปลี่ยนความเห็น โดยได้ชี้แจงมาตรการกระตุ้นราคายางพาราของไทย คือการนำผลผลิตมาใช้ในการทำถนนในประเทศไทย เพื่อดึงผลผลิตยางออกจากระบบ ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องดี และจะนำกลับไปดำเนินการใน 2 ประเทศเพื่อดันราคาและลดปริมาณยางในประเทศลง ส่วนการทำถนนที่ใช้งบการปกครองส่วนท้องถิ่นเชื่อว่าจะดึงผลผลิตออกจากระบบได้ประมาณ 1 ล้านตัน และจะได้ถนนในหมู่บ้านหรือตำบลประมาณ 8 หมื่นกิโลเมตร

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์