เผือกร้อนร่าง พ.ร.บ.ข้าว ชี้ชะตาอนาคตชาวนาไทย

แฟ้มภาพ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 14/2562 ในวันที่ 20 ก.พ. 2562 จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ 17 คน ได้พิจารณาปรับแก้ไขแล้ว ในวาระที่ 3 ท่ามกลางแรงกดดันหลังร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกจุดกระแสกลายเป็นประเด็นร้อน แถมถูกนำไปผูกโยงกับการเมือง เพราะออกมาในจังหวะเตรียมการเลือกตั้ง เพราะเรื่องข้าว ไม่ได้มีผู้เกี่ยวข้องเพียงแค่ชาวนา 15 ล้านคน แต่รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งผู้ส่งออก โรงสี พ่อค้าข้าวเปลือก พ่อค้าข้าวถุง รวมทั้งผู้บริโภคทั้งประเทศ

ย้อนปมกฎหมายข้าว

ย้อนปมร่างกฎหมายฉบับนี้ “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สมาชิก สนช. กับ สนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่างช่วงเดือน ส.ค. 2561 และถูกบรรจุเข้าที่ประชุม สนช.วาระ 1 เมื่อ 25 ธ.ค. 2561 โดยร่างแรก กำหนดสาระสำคัญให้มี “คณะกรรมการข้าว” หรือ คกข. โดยให้มีกฎหมายรองรับชัดเจน จากเดิมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จะแต่งตั้งโดยมติ ครม. นอกจากนี้มีการโซนนิ่งให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าว รวมถึงกำกับดูแลการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เสมือนรวบรวมทุกประเด็นเรื่องข้าวมาไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

สะเทือนไปถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการค้าภายใน ที่ดูแลการค้าข้าวตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 กรมวิชาการเกษตร ที่ดูแลเรื่องเมล็ดพันธุ์ ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

โดยภารกิจหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ถูกโอนสู่มือ “กรมการข้าว” ในฐานะฝ่ายเลขาฯของ คกข. รวมทั้งให้บทบาทในการกำกับดูแลการซื้อขาย และการรับรองเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้ “ชาวนา” ที่เคยมีวิถีชีวิตทำเกษตรและเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เอง อาจจะไม่สามารถทำได้อีก

โรงสี-ผู้ส่งออกประสานเสียงค้าน

นอกจากนี้ยังให้อำนาจกำกับดูแลการตลาดข้าว โดยเฉพาะการซื้อข้าวเปลือกระหว่างโรงสีและเกษตรกร ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก กรณีโรงสีกดราคาข้าว จึงถูกสมาคมโรงสีข้าวไทยคัดค้านหนักที่ถูกมองเป็นผู้ร้าย

ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นักวิชาการก็ชี้ปมว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทการค้าข้าวในปัจจุบัน เพราะโรงสีมีกำลังการผลิตมากกว่าข้าวเปลือกที่ผลิตได้แต่ละปีถึง 3 เท่า ไม่มีทางจะกดราคาซื้อ มีแต่จะแย่งกันซื้อ ที่น่าห่วงคือหากกฎหมายปฏิบัติได้ยากก็เสี่ยงที่โรงสีจะหยุดรับซื้อข้าว เพราะโทษถึงขั้นจำคุก

ส่วน “ชาวนา” กลับเสียงแตก เนื่องจากตัวแทนชาวนา 3 สมาคมมองต่างมุมกัน โดยกลุ่มนายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย “หนุน” ให้ สนช.ผ่านร่างกฎหมายนี้ แต่กลุ่มที่คัดค้านคือกลุ่มนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งถูกโจมตีว่ามีส่วนได้ส่วนเสียจากการเป็นเจ้าของบริษัทเมล็ดพันธุ์ และกลุ่มนายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ซึ่งเปลี่ยนท่าทีมาคัดค้าน เนื่องจากกังวลว่ากฎหมายจะกระทบชาวนา

บิ๊กตู่สั่งเคลียร์ปม

“รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่ผ่านวาระ 1 ยังมีบางมาตราที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย ขาดความชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว หาก สนช.ผ่านกฎหมายจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำมาซึ่งการปรับแก้ไขร่างกฎหมาย เมื่อ 13-15 ก.พ.ที่ผ่านมา 2 ประเด็นหลักสำคัญ คือปรับแก้ “มาตรา 27/1 วรรค 3 เรื่องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เดิมให้จำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรองเท่านั้น เป็นข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้แก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวได้ แต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้ หากผู้นำไปขายต่อจะมีโทษถึงจำคุก

อย่างไรก็ตาม หลังทำความเข้าใจในประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ปรับแก้ถ้อยคำเป็น “เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ อันจะสร้างความเสียหายต่อชาวนาและเศรษฐกิจของประเทศ ให้อธิบดีกรมการค้าข้าว โดยความเห็นชอบคณะกรรมการมีอำนาจประกาศห้ามมิให้มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพดังกล่าวได้” แทน

นอกจากนี้ได้เพิ่มมาตราด้านการส่งเสริมชาวนา จากร่างเดิมที่ไม่มีบทบัญญัติในส่วนนี้

ชี้ 3 จุดอ่อน พ.ร.บ.ข้าว

แต่ทีดีอาร์ไอชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวยังมีจุดอ่อนสำคัญ 3 เรื่อง 1.มาตรา 20 กำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกออกใบรับซื้อข้าวเปลือกทุกครั้ง และให้ส่งสำเนาใบรับซื้อข้าวเปลือกให้กรมการข้าว โดยเน้นการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน ไม่สอดคล้องกับการค้าปัจจุบัน เพราะผู้ค้าจะเทกองข้าวที่ซื้อมารวมกัน ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ 2.ไม่มีบทบัญญัติพัฒนาส่งเสริมอาชีพชาวนาให้มั่นคงยั่งยืน หรือสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาประกอบอาชีพทำนา

3.มาตรา 27/3 การโอนอำนาจควบคุมเมล็ดพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตรให้กรมการข้าว จะสร้างความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ เนื่องจากกรมการข้าวอยู่ในฐานะทั้งเป็นผู้วิจัย ให้ทุนวิจัยด้านข้าว แถมมีอำนาจในการกำกับควบคุมและออกใบอนุญาต

ต้องจับตาดูว่าการพิจารณาในวาระ 3ของที่ประชุม สนช. ที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 26 ก.พ.นี้ บทสรุปออกมาอย่างไร ร่าง พ.ร.บ.ข้าวมีการปรับแก้มากน้อยแค่ไหน หรือจะกลายเป็นเผือกร้อนที่ถูกโยนใส่มือชาวนา