2 ปลัด “อุตฯ-พลังงาน” ดึงกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 2,000 ลบ. รับแผนทำลายแผงโซล่า

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ถึงความร่วมมือด้านพลังงานที่สอดคล้องกับร่างแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยหวังให้มีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (แผงเซลล์แสงอาทิตย์) จึงเห็นควรให้มีหน่วยงานกลางในการดำเนินงาน จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันและดำเนินการร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม

รวมทั้งให้มีแผนการกำจัด/ทำลายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่รถยนต์ที่ถูกต้องตามหลักอาจใช้แนวทาง Circular Economy ในการบริหารจัดการ เพื่อให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ในส่วนของขยะจากภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 30 ล้านตันต่อปี มีขยะอันตรายรวมอยู่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบ จึงอยากจะหาแนวทางในการนำไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า และมีการทำงานร่วมกันในเรื่องของข้อมูล

โดยอาจนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีกว่า 2,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการขยะจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนแม่บทการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ซากเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นแนวทางเพื่อรองรับการบริหารจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุการใช้งาน
ส่วนแผนอื่นๆ คือ 1) การตั้งศูนย์ One-Stop-Service ด้านพลังงาน มีแผนการดำเนินงานคือ ปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับการจัดตั้งและการออกใบอนุญาต รวมถึงการปรับแก้กฎหมายลำดับรอง ให้สอดคล้องและครอบคลุมในการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ OSS (One Stop Service) ด้านพลังงาน

2) การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง และขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่าง วิสาหกิจชุมชน และโรงงาน เพื่อสร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่พัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าของวิสาหกิจชุมชน โดยจะนำร่องในพื้นที่นิคมมาบตาพุดลำดับแรก ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการที่คล้ายคลึงกันคือ Big Brother ที่ให้โรงงานขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือโรงงานขนาดเล็ก ทั้งในด้านการทำแผนธุรกิจ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การปรับแผนการตลาด เป็นต้น

3) การพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 โดยพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการคือไทยจะเป็นเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียน เป็นประตูการค้า (Gateway) เชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve มีความสามารถในการรองรับการนำเข้า LNG เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เกิดการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่

4) การส่งเสริม EV ในประเทศไทย และการส่งเสริมเทคโนโลยี ESS กระทรวงอุตสาหกรรมมีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผนวกกับมาตรการในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากรถยนต์ร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการพิจารณาการส่งเสริมเครือข่าย Power grid และกฎเกณฑ์การติดตั้งสายไฟ มาตรฐานทางเทคนิค ความปลอดภัย และนโยบายในการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อเร่งผลักดันให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเกิดได้เร็วขึ้น

5) ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหนึ่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงาน เช่น การใช้พลังงานในโรงงาน เป็นต้น โดยจัดทำข้อมูลเชื่อมต่อออนไลน์ทั้งหน่วยงาน ภายนอก ภายใน และ Online Monitoring

6) การประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานมาตั้งแต่ปี 2561 และได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานจัดทำแผนกรอบระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) เพื่อส่งเสริมและกำกับด้านการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนการอนุรักษ์พลังงาน รวม 5 ปี 1,000 ล้านบาท และจากการประเมินคาดว่า จะสามารถประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

7) มาตฐานน้ำมันEuro B7 B20 และน้ำมัน Euro 5 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อเตรียมการเพื่อรองรับการนำ Euro 5 มาใช้และมาตรฐานของเครื่องยนต์ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้มีการเชิญผู้ประกอบการรถยนต์รายใหญ่เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รองรับ การใช้เครื่องยนต์ Euro 5 ภายในปี 2564 ซึ่งผู้ประกอบการอาทิ BMW, GM, Isuzu, Mazda, Mercedes-Benz, Mitsubishi, MG, Suzuki และ Toyota ได้ตอบรับกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับ Euro 5 รถยนต์ใหม่ทุกรุ่นทุกคัน และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมในการปรับมาตรฐานยานยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง Euro 5 โดยจะกำหนดเกี่ยวกับด้านความปลอดภัย และชิ้นส่วนหลัก อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบประจุ เต้ารับเต้าเสียบ ระบบขับเคลื่อนและระบบสื่อสารต่างๆ ฯลฯ คาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปี 2564 ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งรถที่ผลิตในประเทศและรถนำเข้าด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จะร่วมผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ผ่านคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกในการดำเนินการร่วมจัดทำนโยบายให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการสมดุลในการส่งเสริมผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป