ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการหนุน “เกษตรไทย” เปลี่ยนผ่านสู่ “เกษตรยั่งยืน”

ภาคเกษตรไทยเผชิญหลากความท้าทาย ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการปรับทิศการทำเกษตรด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภค แก้ปัญหาการบุกรุกป่าผิดกฎหมายและใช้สารเคมีทำเกษตร พร้อมแนะมาตรการพักชำระหนี้ หรือ เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เสริมแกร่งให้เกษตรกรไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การทำเกษตรยั่งยืน

ในงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ “มาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร” จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

ดร.กรรณิการ์ ธรมพานิชวงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาว่า เนื่องด้วยภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาคเกษตรนำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาการสูญเสียหน้าดิน ปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำแนวคิดสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการสำคัญในการสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตร มีหลายประการ ประการแรก เน้นการแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบไม่ยั่งยืนโดยบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่บุกรุกป่าปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสานแบบปราศจากสารเคมี โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้

ประการที่สอง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้ อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรก จึงควรนำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อเป็นเงินทุนให้เกษตรกรใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ

ประการที่สาม ใช้มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีสารเคมีเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช และการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าเกษตรยั่งยืน อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการเก็บภาษีสารเคมี จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีและไม่กระทบผลิตผล (Yield)

นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนยังมีช่องทางการจำหน่ายที่จำกัดและเข้าถึงยาก ดังนั้นมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืนและสร้างตลาดท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อรับรองสินค้าสำหรับการส่งออก มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรยั่งยืนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ดี เห็นได้ว่ามาตรการที่สนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรมีหลายประการ หากให้ลำดับความสำคัญมาตรการที่สำคัญเพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน ควรมุ่งเน้นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกมีความจะเป็นต้องเงินทุนสูงและใช้ระยะเวลานานกว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ควรมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนเอง เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรของประเทศไทยนำไปสู่การปฏิบัติจริง