“สวทช.” ของบ บิ๊กตู่ 4,500 ล้าน เร่งลงเสาเอกอาคารวิจัย-นวัตกรรม สร้างไบโอรีไฟเนอรีใน EECi

 

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา EECi ในพื้นที่ EEC โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในทุกภาคส่วน ให้เป็นศูนย์กลางการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โดย EECi มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ 1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3. แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และ 6. เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ของไทยให้มีความเข้มแข็ง

“EECi จะทำให้ไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรม และพิธีการเปิดหน้าดินวันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ โดยภายในระยะเวลา 3-5 ปีจากนี้ พื้นที่กว่า 3,455 ไร่นี้ของวังจันทร์วัลเลย์ จะได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ตั้งเป้าที่จะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ประกอบไปด้วย สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย ห้องทดลอง โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต และศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ พร้อมสิทธิประโยชน์สำหรับเอกชนที่เข้ามาดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรม รวมถึงยังมีโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น ที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงแรม และ Community Market รวมไปถึงมีการผ่อนปรนกฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทดสอบนวัตกรรมใหม่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกในช่วงระยะเวลา 2 ปีจากนี้ (2562-2563) จะเป็นการก่อสร้างในส่วนของอาคารหลัก มูลค่าการลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ EECi, โรงงานต้นแบบ และโรงเรือนอัจฉริยะของ BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ARIPOLIS (เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ), SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ) ระยะเริ่มต้น ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในต้นปี 2564

นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี มูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท ต่อเนื่องในปี 2563 – 2565 เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของไทยต่อไป

ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECi อาทิ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ

โดยสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับประกอบด้วย สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัย และการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ โรงงานผลิตชิ้นงานต้นแบบ โคเวิร์คกิ้งสเปซ สนามทดลองและทดสอบ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่

สำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง การอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ การเข้าถึงพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อการทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และการเข้าถึงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของรัฐต่างๆ

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่ EECi วางสัดส่วนการลงทุนแบบที่มาจากรัฐ 30% หรือไม่น้อยกว่า 33,170 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 70% อีกกว่า 7,000 ล้านบาท รวมกว่า 110,000 ล้านบาท ภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนดังกล่าวได้กว่า 271,000 ล้านบาท