ไทยบูม LNG-LPG ภูมิภาค-เอกชน ขานรับ15ประเทศ ด้าน กฟผ.พร้อมเดินหน้าโซลาร์ทุ่นลอยน้ำ45เมกะวัตต์แห่งแรกเอเชีย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า เพื่อศักยภาพการซื้อขาย LNG และ LPG ในประเทศไทย กระทรวงพลังงานได้เปิดเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดระหว่าง ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ขนส่ง และผู้รับซื้อในธุรกิจ LNG และ LPG จากทั่วโลกที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากความต้องการปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติของไทยนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย 3.6%- 4.1% ต่อปี แต่ช่วงปี 2007-2017 ปริมาณที่ผลิตได้ลดลงเฉลี่ย 2.7% ซึ่งไม่สอดคล้องความต้องการและเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018)

ทั้งนี้ เมื่อปี 2017 ประเทศไทยได้มีการนำก๊าซธรรมชาติปริมาณทั้งสิ้น 13.4% พันล้านลบ.ม และมีอัตราการนำเข้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ซึ่งในอนาคตปี 2036 ต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG ปริมาณ 53.3 พันล้านลบ.ม และ LPG ปริมาณ 5.9 พันล้านลบ.ม คิดเป็น 71% และ19.5% ของความต้องการใช้ก๊าซ LNG และ LPG ทั้งหมดของไทย

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยความก้าวหน้าในการเตรียมการเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของ กฟผ. ว่า กฟผ.พร้อมจับมือพันธมิตรร่วมลงทุน บริษัทสนใจเข้าประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ระยะที่ 2 ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะมีผู้ร่วมทุน 3 ราย

ทางด้าน นายธนาเดช ศิลปวิศวกุล ประธานที่ปรึกษางานสัมมนาการพัฒนาศักยภาพ การซื้อ ขาย LNG และ LPG ในเอเชีย และสมาชิกสมาคมก๊าซธรรมชาติสำหรับยานพาหนะในเอเชียแปซิฟิก ในฐานะผู้จัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องมีความชัดเจนกฎหมายและการเปิดเสรีทางการค้า เพราะหากกฎหมายไม่มีความชัดเจนจะทำให้นักธุรกิจไม่กล้าลงทุน ซึ่งจากแผน PDP 2018 ล่าสุด ถือว่ารัฐมาถูกทาง เพราะแนวโน้มไทยต้องมีการเพิ่มการนำเข้า LNG เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งต้องมีการสร้างคลัง เพราะโครงสร้างยังติดล็อคอยู่ ซึ่งรัฐต้องเปิดเสรีเพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6% ต่อปี และ 4.1% ต่อปี สำหรับ LPG (2007-2017) แต่ปริมาณที่ผลิตได้กลับลดลงเฉลี่ย 2.7% ต่อปี (2013-2017) ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นทุกปีในปี 2017 ประเทศไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นปริมาณทั้งสิ้น 13.4 พันล้านลบ.ม. และจะมีอัตราการนำเข้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี จนต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นปริมาณ 53.3 พันล้านลบ.ม. และ LPG 5.9 พันล้านลบ.ม. ในปี 2036 คิดเป็น 71% และ 19.5% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และ LPG ทั้งหมดของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมองว่าการจัดหาก๊าซ LNG และ LPG ได้อย่างเพียงพอมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมาทั้งในระดับชาติและภูมิภาคโดยนโยบายพลังงาน 4.0 ของประเทศไทยจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค และด้วยการปรับเปลี่ยนด้านการขนส่งก๊าซเป็นรายแรกๆ ของภูมิภาค จะเป็นตัวอย่างและศูนย์กลางทางการค้า LNG และ LPG ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม


ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพลังงานจึงได้จัดสัมมนา “การพัฒนาศักยภาพการซื้อขาย LNG และ LPG ในเอเชีย 2019” จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 และเยี่ยมชมสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวของบริษัท พีทีที แอลเอนจี จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพลังงานของไทย เพื่อเป็นเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิต, ผู้ค้า, ผู้ขนส่ง, ผู้รับซื้อในธุรกิจ LNG และ LPG จากทั่วทุกมุมโลกที่มีศักยภาพแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย และผู้ประกอบการของไทยโดยงานสัมมนา “การพัฒนาศักยภาพการซื้อขาย LNG และ LPG ในเอเชีย 2019” ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพลังงานของไทย และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนามากกว่า 200 ท่านจากกว่า 15 ประเทศ ที่เป็นผู้นำทางด้านธุรกิจ LNG และ LPG ของโลกเข้าร่วมอีกด้วย