บ้านปู เพาเวอร์ฯ ผลประกอบการปี 2561 โตต่อเนื่อง EBITDA 9%

บ้านปู เพาเวอร์ฯ ผลประกอบการปี 2561 โตต่อเนื่อง EBITDA 9% จากประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าหงสา พร้อม COD โรงไฟฟ้าสำเร็จ 3 แห่ง ทั้งในจีนและญี่ปุ่น เตรียม COD อีก 6 แห่ง และขยายการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมให้ได้ 4,300 MW ตามเป้าหมายในปี’68

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2561 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 5,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9 และมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 4,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าหงสาที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการจ่ายไฟอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่ร้อยละ 87

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 77 เมกะวัตต์เทียบเท่า ประกอบด้วย ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน (Luannan) ระยะที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มุกะวะ (Mukawa) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นาริไอสึ (Nari Aizu) ในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ คาดว่าจะ COD โครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีก 6 แห่ง กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 114.2 เมกะวัตต์เทียบเท่า ได้แก่ ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน ระยะที่ 3 ในจีน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 5 แห่ง อีกทั้งพร้อมขยายโอกาสลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพอย่างเวียดนาม สะท้อนถึงความสามารถในการพัฒนาโครงการตามแผน และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ Greener เพื่อบรรลุเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า พร้อมสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568

“ในปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ฯ ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการดำเนินการผลิตและจ่ายไฟอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เห็นได้จากดัชนีค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าหงสาและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่สูงถึงกว่าร้อยละ 87 รวมทั้งการนำโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน ทำให้ปัจจุบันเรามีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 2,145 เมกะวัตต์เทียบเท่า และอีกหนึ่งความสำเร็จสำคัญคือการเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามทิศทางการกระจายการลงทุนให้ครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้บ้านปู เพาเวอร์ฯ ขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย”

นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมา เรายังได้เปิดตัวบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (เจแปน) จำกัด สาขาโตเกียว สำนักงานใหม่อย่างเป็นทางการ และจัดตั้งสำนักงานขึ้นในประเทศเวียดนาม สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนตามกลยุทธ์ Greener อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและเวียดนามต่างก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งในด้านความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงและมีนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากรัฐบาล

ในปี 2561 บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานรายได้รวม 6,322 ล้านบาท จากธุรกิจไฟฟ้าในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 6 แห่ง จำนวน 714 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 5,608 ล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยเนื่องจากราคาต้นทุนถ่านหินในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทฯ ก็ยังคงสร้างกำไรได้โดยรายงานอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 20 อีกทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร 4,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 3,418 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินแล้ว 24.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่แม้จะมีการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามแผน (Extended Major Overhaul: EMJ) ซึ่งแล้วเสร็จก่อนกำหนดการ แต่ยังรายงานส่วนแบ่งกำไร 1,340 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินแล้ว 55 ล้านบาท และภาษีเงินได้รอตัดบัญชี 83 ล้านบาท) ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังรับรู้เงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าทั้งหมด 28 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 17 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 11 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์เทียบเท่า ส่วนกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวมของโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว คิดเป็น 2,145 เมกะวัตต์เทียบเท่า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 1,955 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 190 เมกะวัตต์ อีก 724 เมกะวัตต์เทียบเท่าจะทยอย COD จนครบภายในปี 2566


“ก้าวต่อไปจากนี้ นอกจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผนที่วางไว้แล้ว บ้านปู เพาเวอร์ฯ จะยังคงศึกษาและมองหาโอกาสในการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโดยผสมผสานทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนอย่างสมดุล เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนทางด้านพลังงาน โดยมุ่งขยายธุรกิจไปในประเทศที่มีศักยภาพและประเทศที่เรามีธุรกิจอยู่ เราเชื่อมั่นว่าความสามารถและประสบการณ์การดำเนินงานในหลายประเทศ สถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และการผนึกกำลังระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในกลุ่มบ้านปูฯ จะทำให้บ้านปู เพาเวอร์ฯ ขยายกำลังการผลิตได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 หรืออาจะเร็วกว่าเป้าหมาย” นายสุธีกล่าว