ต่างชาติเชื่อมั่น ดันหญิงไทยคนแรกนั่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO

(แฟ้มภาพ)น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
ต่างชาติเชื่อมั่น ดันหญิงไทยคนแรก “สุนันทา กังวาลกุลกิจ ” เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ขึ้นแท่นรับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ WTO ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานขององค์กร เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2562 โดยมีวาระ 1 ปี ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO เมื่อปี 2538 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและความไว้วางใจของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทย

“การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ ถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงสภาวะเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือของ WTO จึงถือเป็นภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคี และยังมีประเด็นในการเตรียมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิ.ย.2563 ซึ่งจะกำหนดทิศทางการค้าและการดำเนินการของ WTO ในอนาคต โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การการค้าโลกหรือ WTO Reform เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น ภารกิจของประธานคณะมนตรีใหญ่ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ WTO จึงมีทั้งการเสริมสร้างและผลักดันให้สมาชิกได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานของ WTO เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพและเพื่อให้สมาชิกและประชาคมโลกมั่นใจว่า WTO ยังเป็นองค์กรสำคัญที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ”นายบุณยฤทธิ์กล่าว

สำหรับ WTO ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2538 มีสมาชิกแรกตั้ง 128 ประเทศ ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 164 ประเทศ โดยWTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวด้านการค้าระหว่างประเทศมีหน้าที่เจรจาจัดทำและกำกับดูแลกฎกติกาทางการค้าที่ใช้บังคับกับสมาชิกทุกประเทศอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น และยังเป็นองค์กรเดียวที่มีกลไกการระงับข้อพิพาทด้านการค้าเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกและทำให้การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันสามารถดำเนินได้อย่างโปร่งใสและสามารถคาดการณ์ได้ ส่งผลให้ WTO เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการค้าและเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน และถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในเวทีการค้ากรอบอื่นๆ ทั่วโลก

ปัจจุบัน WTO มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ทำหน้าที่บริหารความตกลงทางการค้ากว่า 30 ฉบับ เช่น ความตกลงเกษตร ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง เป็นต้น โดยความตกลงฉบับล่าสุด คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 และยังมีองค์กรทบทวนนโยบายทางการค้า (TRP) ของประเทศสมาชิก รวมทั้งองค์กรในการระงับข้อพิพาท (DSB) ทั้งนี้ WTO ยังมีกลไกในการเจรจาเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้ทันสมัยและเป็นธรรม รวมทั้งเจรจาจัดทำกฎเกณฑ์ในเรื่องใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!