ทุ่ม 4,500 ล้านปั้น EECi ดันนวัตกรรมดันไทย

เป้าหมายจะให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้นวัตกรรม งานวิจัย เทคโนโลยี เป็นนโยบายที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยล่าสุดได้นำคณะลงพื้นที่เปิดหน้าดิน “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi บนพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ 3,455 ไร่ จ.ระยอง เพื่อส่งสัญญาณเปิด EECi เฟส 1 อย่างเป็นทางการ

สร้างนวัตกรรมจาก 6 อุตสาหกรรม

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า EECi ระยะที่ 1A จะเริ่มสร้างในเดือน มี.ค. 2562 ประกอบด้วย กลุ่มอาคาร ถนนและระบบสาธารณูปโภค ควบคู่ไปกับ community zone และ solar farm ภายใต้งบประมาณ 4,500 ล้านบาท

หลังจากนั้นจะเป็นสำนักงานใหญ่ EECi, โรงงานต้นแบบและโรงเรือนอัจฉริยะของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) โครงสร้างพื้นฐานรองรับเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2564 ตามมาด้วยโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ จะเสร็จปี 2565 เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของไทย

โดย EECi จะดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ 1.เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3.แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ 4.ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5.เทคโนโลยีการบินและอวกาศ 6.เครื่องมือทางการแพทย์ ทำให้ EECi เป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของอาเซียน

ทั้งนี้ แผนการลงทุนใน EECi รวมกว่า 110,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนการลงทุนจากรัฐ 30% และภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 70% คาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 271,000 ล้านบาท

ปตท.ทุ่มลงทุน 4,000 ล้าน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.วางแผนการลงทุน EECi 5 ปี (2562-2566) โดยจะใช้เงินลงทุน 4,100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ในรูปแบบ smart natural innovation platform โดยดึงบริษัทไอทีชั้นนำของโลกเข้าร่วม เช่น IBM ไมโครซอฟท์ อูเบะ CISCO และ SAP

ก่อนหน้านี้ได้เปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ ‘EnCony’ โดยปตท.ร่วมทุนกับพันธมิตร คือ กสิกรฯ และบางจาก มีแผนก่อสร้างอาคารพักอาศัย ขนาด 70 ห้อง 2 อาคาร และจะขยายการลงทุนอีก 3 เฟส โดยรูปแบบการลงทุนจะเน้นเป็นส่วนชุมชน (community zone) ซึ่งจะมีทั้งที่พัก โรงเรียนอินเตอร์ ถือเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อรองรับบุคลากรทางการศึกษาเดินทางเข้าในพื้นที่มากขึ้น

“จุดเด่นเน้นความสะอาด ปลอดภัย และการสร้างนวัตกรรมเช่นระบบโซลาร์เซลล์ ระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาบริหารจัดการ”

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้จัดสรรพื้นที่ส่วนพระองค์สำหรับก่อตั้งโรงเรียนจิตรลดาเกษตรนวัต เน้นการศึกษาการทำเกษตรที่ใช้นวัตกรรม และอีกส่วนเป็นอาคารสำหรับจัดแสดงศิลปะ (แกลเลอรี่) เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการสร้างสังคมที่ดีใน EECi โครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่เน้นผลกำไร

เอกชนร่วมทุนตั้งศูนย์วิจัยไบโอ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า EECi จะมีส่วนหนึ่งที่ตั้งเป็นศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการ (lab) ด้านไบโอ โดยรัฐจะร่วมลงทุนจากเอกชนหลาย ๆ ราย เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยหรือส่งนักวิจัยเข้ามาช่วย เพื่อให้ประโยชน์ลงไปพื้นที่ให้ได้

นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ยังขยายสิทธิประโยชน์การเขต EECi เพิ่มเติม เช่น กิจการเป้าหมายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปีเพิ่มอีก 2 ปี เป็น 10 ปี หรือสูงสุด 13 ปี การคงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% สำหรับผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น