ซีพีเอฟ-TU-STCลุย”ซูเปอร์ฟู้ด” อัดวิจัยตั้งโรงงานอาหารสุขภาพ

“ซีพีเอฟ-ทียู-STC-มหากิจศิริ” ต่อยอดสินค้าโภคภัณฑ์มุ่ง “ซูเปอร์ฟู้ด” สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตอาหารแนวใหม่ ฉีกส่งออกสินค้าเกษตรพื้นฐานลงทุนตั้งศูนย์นวัตกรรม ทุ่มงานวิจัยพัฒนา ขยับสู่ตลาดพรีเมี่ยม “สถาบันอาหาร” ชี้เทรนด์ธุรกิจอาหารอนาคต 30,000 ล้านมาแรง ผู้บริโภคเปลี่ยนรักษาสุขภาพป้องกันรักษาโรค
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารและผู้ส่งออกสินค้าเกษตร-สินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น CPF-TU-STC และอีกหลายบริษัทได้เริ่มฉีกหนีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน แต่ได้หันมาลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารตามเทรนด์การผลิต อาหารสุขภาพ/ซูเปอร์ฟู้ด ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน

TU-CPF ลุยอาหารสุขภาพ

เจ้าตลาดทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลกอย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือกลุ่ม TU ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดโรงงานน้ำมันทูน่า ที่ประเทศเยอรมนี โดยน้ำมันทูน่าดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถใช้เป็นส่วนผสมของนมผงทารก และเริ่มทำการตลาดในกลุ่มผู้ผลิตนมผงในปีนี้เป็นปีแรก คาดว่าจะมียอดขายเบื้องต้น 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนจะขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเหรียญ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

กลุ่ม TU ได้ตั้งศูนย์นวัตกรรม GII หรือ global innovation incubator เพื่อการต่อยอดสินค้าวัตถุดิบของ TU คิดค้นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม หลังจากแนวโน้มราคาปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ต้องแข่งขันกันอย่างหนัก วัตถุดิบทูน่ามีราคาสูงขึ้น และยังต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อการส่งออก ทำให้ TU ต้องหันมารุกด้านนวัตกรรมอย่างหนัก ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดทำ “โครงการสเปซเอฟ” เพื่อค้นหาสตาร์ตอัพด้านอาหารเพื่อมาต่อยอดทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายว่า ปีแรกจะมีสตาร์ตอัพอาหาร 10 กลุ่ม และทยอยเพิ่มเป็น 30-40 ราย ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า

ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เจ้าตลาดธุรกิจ “feed farm food” ก็หันสู่ธุรกิจอาหารสุขภาพ/อาหารสำหรับผู้ป่วยเช่นกัน โดย CPF ได้ตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมอาหาร และยังร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนป่วย ภายใต้แบรนด์ “Smart meal” โดยใช้เทคโนโลยี retort โดย CPF ได้เปิดตัวแบรนด์ Smart นี้มาตั้งแต่ปี 2561 แต่เพิ่งเริ่มวางตลาดสินค้าสมาร์ทซุปเป็นรายการแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้สัดส่วนรายได้อาหารกลุ่มนี้จะยังไม่มากนัก หากเทียบกับรายได้หลักของกลุ่ม แต่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2030 ต้องพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้ 30%

ยักษ์ข้าวแตกไลน์ใหม่

ในส่วนของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรพื้นฐานสินค้าโภคภัณฑ์อย่างข้าวได้ขยับการลงทุนเช่นกัน โดยผู้ส่งออกข้าวหลายรายได้เริ่มลงทุนฉีกหนีธุรกิจส่งออกข้าวแบบเดิมไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยกลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรตั้งห้องปฏิบัติการ-บริการสุขภาพ-การตรวจสอบพิเศษทางด้านการแพทย์ ที่ลงไปถึงระดับเซลล์ให้กับโรงพยาบาลภายในประเทศ จากเดิมที่ต้องส่งออกไปตรวจยังห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ โดยได้เริ่มเปิดให้บริการมาระยะหนึ่งแล้ว

ด้านกลุ่มนครหลวงค้าข้าว (STC) โดยนายวิญญู พิชญ์พงศา กรรมการบริหารเครือนครหลวงค้าข้าว ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ธุรกิจส่งออกข้าวของประเทศไทย กล่าวว่า STC ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท วันรัต (หน่ำเซียน) จำกัด, บริษัท โตโย ไซแอนท์ จำกัด จัดตั้งบริษัท ไทย นิวทริชั่น เทคโนโลยี จำกัด เพื่อเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “อาหารสุขภาพ” จัดเป็นบริษัทแรกที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีพลังงานสูง แต่ให้โปรตีนต่ำ ภายใต้แบรนด์ “KD CARE” ขณะนี้ได้เริ่มลอนช์โปรดักต์ข้าวพร้อมรับประทาน และข้าวสารโปรตีนต่ำสำหรับผู้ป่วยไปเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการจำหน่ายผ่านช่องทางการขายออนไลน์ แพลตฟอร์มต่าง ๆ

“ในปีแรกเราเน้นการโปรโมตสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์นี้ไปยังผู้บริโภค ควบคู่กับการวางแผนด้านการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อ ด้านการผลิตถือว่าเรามีความพร้อม โรงงานมีกำลังการผลิตสูงสุด 200,000 ถ้วยต่อปี ขณะนี้กำลังขยายเร่งตลาด โดยมุ่งเจรจากับกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ร้านอาหารต่าง ๆ และธุรกิจจัดเลี้ยงในการทดลองทำการตลาด และมีแผนเตรียมลอนช์สินค้าใหม่ในงาน THAIFEX 2019 ซึ่งจะจัดราวเดือนพฤษภาคมนี้ด้วย” นายวิญญูกล่าว

โดยจุดแข็งสินค้ากลุ่มนี้จะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากพันธมิตรญี่ปุ่น (โตโย ไซแอนท์) ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ด้วยการนำข้าวมาผ่านกระบวนการเพื่อลดโปรตีนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต ซึ่งแน่นอนว่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป ปัจจุบันทำเป็นแพ็กละ 3 ถ้วย สำหรับรับประทาน 1 วัน ราคา 200 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนการผลิตสินค้านวัตกรรมสุขภาพจะยังมีมูลค่าไม่มากนัก หากเทียบกับสัดส่วนธุรกิจส่งออกข้าว ซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 85% ของเครือ มูลค่ารวม 24,000 ล้านบาท แต่แนวโน้มสินค้านวัตกรรมในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวไปได้อีกมาก

สารสกัดลำไย P80 

ขณะที่ นายอำนาจ กิตติกรัยฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ผู้ผลิตน้ำลำไยเข้มข้นพร้อมดื่มรายใหญ่ของไทย แบรนด์ “P80” ซึ่งมีตระกูลมหากิจศิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมลงทุนอีกประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำลำไยเข้มข้น จากโรงงานที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยจะรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกร 30,000 ตันในปีนี้ จากปีที่ผ่านมารับซื้อ 10,000 ตัน รวมทั้งนำสารสกัดจากน้ำลำไยเข้มข้นไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ประเภทเครื่องดื่มอีกประมาณ 3-4 รายการ

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทจะลงทุนอีก 30-40 ล้านบาท ในการตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากปัจจุบันที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหลัก และได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนผลิตน้ำลำไยเข้มข้น จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีก 4 แห่งใน 5 จังหวัด (จันทบุรี-สระแก้ว-เชียงราย-เชียงใหม่-พะเยา) กำลังการผลิตสามารถสกัดลำไยสดได้แห่งละ 30,000 ตัน รวม 120,000 ตัน ซึ่งจะทยอยลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งละประมาณ 500 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งหมด 2,000 ล้านบาท

อาหารซูเปอร์ฟู้ด 30,000 ล้าน

ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระแสผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเลือกอาหารที่รับประทานแล้วป้องกันหรือรักษา-บรรเทาอาการของโรคได้ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารที่มีการต่อยอดพัฒนานวัตกรรม หรือที่เรียกว่าฟิวเจอร์ฟู้ด ขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนอาหารกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก หากเทียบกับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีสัดส่วน 53% ของมูลค่าการส่งออกอาหารแต่ละปี 1.03 ล้านล้านบาท หรือราว 545,900 ล้านบาท ส่วนอีก 47% เป็นกลุ่มอาหารที่พร้อมทาน (ready to eat) หรือราว 484,100 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มซูเปอร์ฟู้ดจะแฝงอยู่ในกลุ่มนี้ มีสัดส่วนเพียง 6-7% หรือประมาณ 29,000-30,000 ล้านบาท แต่ยังมีการขยายตัวในระดับที่ดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อาหารอนาคต หรือ future food/super food แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเกษตรอินทรีย์ (organic foods), อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (functional foods and frink), อาหารทางการแพทย์ (medical foods) และอาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel foods)

คลิกอ่านเพิ่มเติม… อนาคต…ของ อาหารอนาคต (Future Food)

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!