พาณิชย์จ้าง “ศศินทร์” รื้อเอฟทีเออียู เตรียมแผนพลิกเกมหลังอังกฤษ Brexit 29 มี.ค.นี้ มั่นใจส่งไม้ต่อรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศปี 2562 ว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างทบทวนการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีที่หยุดเจรจาไป 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงเอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) โดยล่าสุดกรมได้จัดจ้างสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วให้ศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากเอฟทีเอไทย-อียูหยุดการเจรจาเมื่อ 3-4 ปีก่อน อาจต้องทบทวนข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข ปรับเพิ่มเติมประเด็นใดอย่างไรได้บ้าง เพราะช่วงที่ผ่านมา กฎระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องการค้าออนไลน์ รวมถึงการบริการในรูปแบบใหม่ ๆ
พร้อมกันนี้ ต้องศึกษาในกรณีที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยขณะนี้อังกฤษอยู่ระหว่างกระบวนการตัดสินใจเรื่อง Brexit คาดว่าจะสรุปในวันที่ 29 มีนาคมนี้ และยังต้องติดตามการเลือกตั้งของอียู ซึ่งอาจมีผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ หากมีความชัดเจน กรมพร้อมเดินหน้าต่อกับอังกฤษเพื่อสร้างโอกาสการค้าสินค้า ส่วนเอฟทีเอไทย-EFTA ซึ่งไม่ได้เจรจามานาน แต่ทางภาคเอกชนก็มีความสนใจเช่นกัน
“ความตกลง 3 กรอบการค้าดังกล่าวนี้ และคาดว่าจะเดินหน้าเจรจาได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้อย่างแน่นอน”
สำหรับกรอบเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาอีก 3 ฉบับนั้น ทางกรมจะดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุดในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2562 ณ กรุงโคลอมโบ ทางกรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (joint action plan) ภายใต้ MOU ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย-ศรีลังกา เพื่อผลักดันให้มีการขยายมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับศรีลังกาให้ได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563 ส่วนเอฟทีเอไทย-ตุรกีซึ่งจะเจรจาครั้งที่ 5 ในเดือนเมษายน 2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปได้ภายในปี 2563 ขณะที่เอฟทีเอไทย-ปากีสถานซึ่งติดปัญหาภายในปากีสถาน ก็คาดว่าจะประชุมได้ภายในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ข้อสรุปในปี 2563-ต้นปี 2564 โดยปัจจุบัน RCEP มีข้อสรุปแล้ว 7 บท จาก 20 บท อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิคและกระบวนการตรวจสอบและรับรอง พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น
“ส่วนความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ไทยพร้อมจะส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมไปที่นิวซีแลนด์ในฐานะผู้ประสานงานรับสมาชิกใหม่ ตามกระบวนการ CPTPP จะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา และเจรจาต่อรองกับไทยก่อนรับเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และกรมต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการปรับตัว และอาจมีการตั้งเป็น กองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบ”