ชำแหละแผน PDP 2018 โลกเปลี่ยน…รับมือธุรกิจผลิตไฟใช้เอง

ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP 2018 ฉบับล่าสุดที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของแผนฉบับนี้ว่า เป็นการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวใหม่ ด้วยการคำนึงถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เปรียบเทียบแผน PDP ใหม่-เก่า

จากความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวลดลง เรื่องของ disruptive technology กลุ่มผู้ประกอบการ Idependent Power Supply (IPS) ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ การผลิตไฟฟ้าตามบ้านหรือบนหลังคาโรงงาน ที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟท็อป” การเปลี่ยนแปลงไปสู่ตลาด prosumer และการพัฒนาเข้าสู่ระบบ smart grid ปัจจัยข้างต้นทำให้การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับนี้ แตกต่างไปจากทุกแผนที่ผ่านมา โดยแผน PDP 2018 เราได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงเป็นรายภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตนครหลวง การเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า (grid flexibility) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน East-West Corridor

“แต่เรื่องที่สำคัญก็คือ การรักษาราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ พลังงานทดแทน จะทำอย่างไรให้มันสมดุลกว่าปัจจุบัน จากราคาขายปลีกค่าไฟปัจจุบัน (3.60 บาท/หน่วย) เราจำเป็นต้องรักษาระดับราคาค่าไฟนี้เอาไว้ คือ ค่าไฟฟ้าขายปลีกตลอดแผน 3.58 บาท/หน่วย”

บริหารกำลังผลิตใหม่ 27,000 MW

ทีนี้เวลาเราจะพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศตามแผน PDP 2018 มันมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการพยากรณ์แตกต่างจากแผนเดิม คือ PDP 2015 ตามแผนใหม่เราจะใช้ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ความต้องการระบบ 3 การไฟฟ้าฯ (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.) บวกด้วยการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เอง (IPS) ซึ่งกลุ่มนี้คาดว่า “จะไม่ซื้อไฟจากเรา ฉะนั้น เราก็จะต้องไปวางแผนผลิตไฟฟ้าเผื่อตรงส่วนนี้”

สิ่งที่เราพบเมื่อตัวเลขความต้องการค่าพยากรณ์ทั้งหมดพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสักเท่าใด นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS มีมากขึ้น มีการผลิตไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเราเชื่อว่า IPS จะมีตัวเลขผลิตไฟฟ้าใช้เองอยู่ประมาณ 2,000 MW ในระหว่างแผน PDP อาจจะเพิ่มสักประมาณ 6,000 MW ปลายแผนก็จะเพิ่มประมาณ 8,000 MW

อย่างไรก็ตาม เราก็จะมีการมอนิเตอร์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ความต้องการของระบบของ 3 การไฟฟ้าฯที่เรามาวางแผนใน 20 ปีข้างหน้า (2561-2580) ความต้องการของระบบประเทศแล้วก็มาพิจารณาเรื่องซัพพลายที่มีอยู่ในปัจจุบันมันได้ include สำรองไฟฟ้า 15% ในอดีตไปแล้ว “เราก็จะหักตรงนี้ออก เพราะมันได้สำรองเผื่อไว้แล้ว” จึงเหลือไว้แค่กำลังการผลิต เอามาเป็นตัววางแผน

ทีนี้ก็มาดูว่าตามแผน PDP จะมีโรงไฟฟ้าประเภทใดบ้าง กฟผ. IPP SPP ไฟฟ้าจากลาว พลังงานหมุนเวียน เมื่อนำมาพิจารณาพบว่า “เรามีซัพพลายมากกว่าความต้องการ” แตกต่างจากในอดีตที่เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมากก็เลยมีการวางโรงไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ จนกลายมาเป็นในช่วง 8-10 ปีแรก (2561-2568) ของแผน PDP มีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) เข้าระบบ

สรุปในภาพรวมก็คือ เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นมาตลอดแผน PDP 2018 ประมาณ 27,000 MW ที่เราจะต้องจัดเข้าไป โดยจะมีการจัดที่เรียกว่า “โรงไฟฟ้าหลัก” หมายถึง โรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงรายภูมิภาค อีกประมาณ 14,800 MW ส่วนที่เหลือจะเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน แล้วก็มีเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานเข้ามาด้วย

โรงไฟฟ้าหลักรายภูมิภาค

ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงรายภูมิภาค การจัดสรรโรงไฟฟ้าก็จะต้องมาพิจารณาเรื่องของศักยภาพของเชื้อเพลิงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าและสายส่ง ภาคเหนือมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะค้ำระบบอยู่ แต่ในอีก 20 ปีมันจะไม่พอก็ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากภาคอีสานผ่านเข้ามาช่วยก็คือ การซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวนั่นเอง

อีกคู่หนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญก็คือ ภาคตะวันตกกับภาคใต้ ภาคตะวันตกขณะนี้เป็นภาคหลัก ไฟฟ้าล้นเกินจึงสามารถส่งไฟไปช่วยภาคใต้ผ่านทางสายส่ง อีกส่วนหนึ่งก็ช่วยในแถวนครปฐม เขตนครหลวงด้วย

โซลาร์ 10,000 MW

การส่งเสริมพัฒนาหมุนเวียนจริง ๆ แล้วก็คือ การเติมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในรายภาค ซึ่งตามแผน PDP 2018 ก็จะประกอบไปด้วย โซลาร์ 10,000 MW (ปี 2562-2571 จะมีโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปีละ 100 MW รวม 10 ปีเท่ากับ 1,000 MW) โครงการนี้เน้นว่าเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน จะรับซื้อพลังงานหมุนเวียนในราคาถูกและไม่เป็นภาระ และพลังงานหมุนเวียนจะต้องแข่งขันได้กับพลังงานฟอสซิล “ตัวเลขโซลาร์ที่จะรับซื้อ 10,000 MW ดูมากก็จริง แต่นั่นเป็น contract capacity ตัวเลขจริงที่คาดว่าจะซื้อได้ (reliable capacity) เราคิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,250 MW เท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 40”

อนุรักษ์พลังงานหายไปไหน

ส่วนการอนุรักษ์พลังงาน แผนระบุไว้ในช่วงท้ายแค่ 4,000 MW ข้อเท็จจริงก็คือ จากการมอนิเตอร์การอนุรักษ์พลังงานในแผน PDP ที่ผ่านมา พบว่ายังคงต้องใช้เงินสนับสนุน ในแผน PDP 2018 จึงได้มีการทบทวนใหม่ ถ้าจะเข้ามาในแผน PDP ก็จะต้องคำนวณต้นทุนและแข่งขันได้ คือ ต้องมีคุณภาพ ถ้าจะต้องเข้ามาในแผนเบื้องต้นคิดว่า น่าจะลดได้ 4,000 MW