4 โรงกลั่นลุยผลิตน้ำมันยูโร5 BOI อัดสิทธิประโยชน์หวังลดฝุ่น PM2.5

“ไทยออยล์-บางจาก-เอสโซ่” ลุยโปรเจ็กต์ยูโร 5 ปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หลัง “บีโอไอ” คลอดมาตรการยกเว้นอากรเครื่องจักรขาเข้า “ศิริ” ตั้งเป้าปี 2566 ทุกปั๊มทุกโรงกลั่นเป็นยูโร 5 ทั้งหมด ด้านกระทรวงอุตฯเตรียมปรับมาตรฐานรถบังคับใช้ครอบคลุมทั้งรถที่ผลิตในประเทศและนำเข้าปี”64 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 โดยจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 รายในประเทศไทย เร่งการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยูโร 4 ในปัจจุบัน เป็นมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

โดยผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ทั้งนี้ จะต้องยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีโรงกลั่นทั้งหมด 6 แห่ง มี 2 รายที่ได้ปรับปรุงลงทุนอุปกรณ์เพื่อลดค่ากำมะถันแล้ว อย่างไทยออยล์ ส่วนอีก 4 ราย คาดว่าจะเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนหลังจากนี้ มูลค่าลงทุนกว่า 35,000 ล้านบาท

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อรัฐมีมาตรการสนับสนุนออกมา จากนี้โรงกลั่นน่าจะเตรียมพร้อมที่จะลงทุน ซึ่งอีก 2 ปีกำลังการผลิตยูโร 5 ของโรงกลั่นทั้งหมดจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% ของความต้องการใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 65 ล้านลิตร/วัน ดังนั้น ตามแผนของกระทรวงพลังงานในปี 2566 ทุกสถานีน้ำมันและโรงกลั่นทั้งหมด 6 โรงกลั่น ประกอบด้วย โรงงานกลั่นไทยออยล์ โรงกลั่น IRPC โรงกลั่นเอสโซ่ โรงกลั่นบางจาก โรงกลั่น SPRC และโรงกลั่น PTTGC จะต้องผลิตน้ำมันและขายน้ำมันยูโร 5 ได้ครบทั้งหมด 100%

“ตอนนี้เรามีดีมานด์ แต่ซัพพลายไม่พอ ในอนาคตเมื่อมันเริ่มพร้อมแล้ว โรงกลั่นผลิตได้ ปั๊มขายได้จนครบแล้ว จากนั้นจะหามาตรการเข้ามาดูแลเพื่อควบคุมราคา เพราะนโยบายเราจะทำให้ราคาของน้ำมันยูโร 5 ถูกลงกว่าดีเซลเกรดปกติ”

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโรงกลั่นในเครือของ ปตท.มี 3 โรง ขณะนี้พีทีทีจีซีสามารถผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้แล้ว ส่วนไทยออยล์ได้เริ่มปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันที่เป็นเกรดมาตรฐานยูโร 5 ได้แล้วคาดว่าจะดำเนินการเสร็จและสามารถผลิตได้ในเวลา 5-6 ปี ส่วนโรงกลั่น IRPC ได้อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลไปพร้อมกับการเตรียมเงินลงทุนดำเนินการปรับปรุงน้ำมันเป็นยูโร 5 ขนาดประมาณ 1,000 ล้านบาท

“แม้ว่ามาตรการบีโอไอจะกำหนดให้ยื่นภายใน ธ.ค. 2562 ก็ตาม หากผลการศึกษาของ IRPC ยังไม่แล้วเสร็จ ยื่นขอรับการส่งเสริมไม่ทันก็ไม่เป็นไร เพราะรัฐก็น่าจะมีผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาให้”

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนศึกษาเพื่ออัพเกรดแพลนต์ผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 จำนวน 2 แห่ง คือ แพลนต์ 2 และแพลนต์ 3โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการลงทุน และเสนอขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอได้ทันระยะเวลาที่เปิดให้ยื่นในปีนี้แน่นอน

“เดิมบางจากมี 3 แพลนต์ คือ แพลนต์ 2,3, 4 โดยแพลนต์ 4 สามารถผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ได้อยู่แล้ว จะมีเพียงแพลนต์ที่ 2 และ 3 ที่ผลิตเป็นน้ำมันเบนซินยูโร 5 ซึ่งจะต้องอัพเกรดให้สามารถผลิตดีเซลยูโร 5 เพิ่ม โดยขณะนี้ศึกษารูปแบบการลงทุนรวมถึงประเมินเม็ดเงินที่จะใช้ในการลงทุน หลังจากได้ข้อสรุปจะดำเนินการประมูลและก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลารวม 3-4 ปี จึงจะสามารถผลิตได้”

แหล่งข่าวจากบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นับเป็นสิ่งที่ดีที่บอร์ดบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการน้ำมันเปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควรดำเนินการไปทุกด้านควบคู่กัน ทั้งในส่วนของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และส่วนขนส่ง เพราะการส่งเสริมการลงทุนผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ก็ต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มจำนวนการใช้รถที่มีมาตรฐานยูโร 5 ด้วย เพราะหากผลิตน้ำมันยูโร 5 แล้ว ไม่มีรถก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งการลงทุนผลิตน้ำมันยูโร 5 ใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่อเพิ่มมาตรฐาน ย่อมมีผลกับราคาน้ำมันด้วย หากผลิตแล้วไม่มีจำนวนผู้ใช้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นที่ลงทุนไปก็เป็นได้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้หารือถึงความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์รองรับการนำน้ำมันยูโร 5 มาใช้ โดยจะมีการกำหนดด้านความปลอดภัยและชิ้นส่วนหลัก เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบประจุเต้ารับเต้าเสียบ ระบบขับเคลื่อนและระบบสื่อสาร ซึ่งมาตรฐานมลพิษระดับยูโร 5 ดังกล่าว จะบังคับใช้ครอบคลุมทั้งรถที่ผลิตในประเทศและนำเข้า รถใหม่ทุกรุ่นทุกคันในปี 2564