สุนันทา กังวาลกุลกิจ WTO Reform ฝ่าสงครามการค้า

ครั้งแรกของประเทศไทย “สุนันทา กังวาลกุลกิจ” เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ขึ้นรับตำแหน่ง “ประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO” ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น ถือเป็นคนไทยคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO มา 24 ปี (2538)

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ทูตสุนันทา” ท่ามกลาง สงครามการค้าที่กำลังร้อนระอุทั่วโลก ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการใช้มาตรการทางการค้าเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก เมื่อมีข้อพิพาทต่าง ๆ เกิดขึ้น “องค์การการค้าโลก” WTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศเดียวที่มีบทบาทด้านการเจรจา และถือเป็นที่พึ่งเดียวของประเทศกำลังพัฒนา

Q : บทบาทปธ.คณะมนตรีใหญ่ WTO

มีหน้าที่ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการของ WTO ทั้งการดำเนินงานทั่วไป การกำกับดูแลและการดำเนินการตามความตกลงต่าง การผลักดันการเจรจา โดยองค์กรภายใต้ WTO เช่น องค์กรทบทวนนโยบายทางการค้า คณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้า และคณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการ ต้องยกประเด็นให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนข้อสรุปจะมีผลใช้บังคับ และมีอำนาจในการตัดสินใจประเด็น

นโยบายแทนรัฐมนตรี ช่วงที่ไม่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่จัดขึ้นสองปีครั้ง ภารกิจจึงมีทั้งการผลักดันกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับงานทั่วไปของ WTO และเสริมสร้างให้สมาชิกได้ข้อสรุปการเจรจาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สมาชิกและประชาคมโลกมั่นใจว่า WTO เป็นองค์กรสำคัญที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ

Q : วาระเร่งด่วน 1 ปี 

ปี 2562 เป็นปีที่ท้าทายยิ่งสำหรับ WTO 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง มีการคุกคามโดยนโยบายปกป้องการค้าจากประเทศมหาอำนาจ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า ตลอดจนการตอบโต้ทางการค้าของสมาชิกอื่น ๆ และความไม่คืบหน้าในการเจรจาต่าง ๆ ใน WTO กำลังลดทอนความน่าเชื่อถือของ WTOการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือจึงเป็นภารกิจสำคัญ

มีประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งหารือและหาข้อสรุป เช่น การปฏิรูปองค์การการค้าโลก หรือ WTO Reform ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าได้ดีขึ้น สมาชิกหลายประเทศนำโดยอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงการทำงานด้านความโปร่งใส การทำงานขององค์กรอุทธรณ์ และการเจรจาประเด็นใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

การเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นมิ.ย. 2563 สมาชิกต้องร่วมกันหาข้อสรุปในปี 2562 ใน 3 ประเด็น 1. ข้อสรุปการเจรจาการอุดหนุนประมง 2.มติรัฐมนตรีเพื่อขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสิ่งที่ส่งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว และ 3.มติรัฐมนตรีเพื่อขยายเวลาการยกเว้นการฟ้องร้องกรณีได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้มิได้มีการละเมิดความตกลง (Nonviolation and Situation Complaints : NVS) มาใช้สำหรับ TRIPS Agreement ทั้งเร่งเจรจาที่คั่งค้าง เช่น เรื่องเกษตร เพื่อให้มีข้อสรุปในการประชุม MC12

Q : แนวทางการแก้ไขการระงับข้อพิพาทที่ล่าช้า

องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นองค์กรที่โดดเด่นและสร้างความเป็นธรรมให้สมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าโดยสันติ ปัจจุบันสมาชิกองค์กรอุทธรณ์มี 3 คน และจะเหลือ 1 คน ในธ.ค.ส่งผลให้กระบวนการระงับข้อพิพาทต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถทำงานได้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด

Q : WTO มาปรับใช้ในอาเซียน

WTO และอาเซียน มีจุดกำเนิดคล้ายคลึงกันจากปัญหาทางการเมือง นับจากการตั้งเป็นแกตต์ในปี 2491 ก่อนปรับมาเป็น WTO ปี 2538 อายุกว่า 70 ปี ขณะที่ ASEAN ตั้งปี 2510 มีอายุกว่า 50 ปี ต่างเป็นองค์กรที่สะสมประสบการณ์ยาวนาน ทั้งมีประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่าง การจัดทำความตกลงและการบริหารองค์กรมีจุดเด่นของตนเอง ซึ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้

WTO เป็นแม่แบบของการจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงการค้าระหว่างประเทศแทบทุกฉบับจึงอ้างอิงหรือใช้หลักการและข้อบทในความตกลงต่าง ๆ เป็นบรรทัดฐาน

ความตกลงด้านการค้าของอาเซียนก็เช่นกัน ความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงหลักการและข้อบทต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงของ WTO ช่วยเสริมสร้างและอำนวยความสะดวกให้อาเซียนจัดทำความตกลงต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลายเรื่องอาเซียนก้าวหน้ากว่า เช่นการจัดทำความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement ) และความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน WTO อาจนำมาทบทวนเพื่อรับมือความท้าทายที่กำลังเผชิญ ส่วนสิ่งที่อาเซียนจะนำประสบการณ์จาก WTO มาปรับใช้
คือ การบังคับใช้ความตกลงให้มีประสิทธิภาพ การสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สิ่งที่ต้องการผลักดัน คือ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการค้าพหุภาคี และ WTO ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของระบบการค้าโลกที่โปร่งใส เป็นธรรม และคาดการณ์ได้ ที่ผ่านมาไทยและสมาชิก WTO ได้ประโยชน์จากระบบนี้ รวมทั้งได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ และการใช้มาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระบบการค้าพหุภาคีจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการขยายการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก