สรรพสามิต เผย ร้อนดันน้ำอัดลมขายดี-ขึ้นภาษีความหวานรอบใหม่ 1 ต.ค.

หวาน

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากอากาศที่กำลังร้อนขึ้นในช่วงนี้ส่งผลให้การจัดเก็บน้ำอัดลมขายดี ทำให้การจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบ 2562 คือในเดือน ตุลาคม2561-กุมภาพันธ์2562ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีจากน้ำหวาน ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ในเครื่องดื่มประเภทน้ำสี-น้ำอัดลม เพิ่มขึ้นจากประมาณการ 300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2-3% โดยคาดว่าในปีนี้หลังจากการปรับขึ้นภาษีน้ำหวานอีกครั้งในเดือนตุลาคม2562 กรมฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีรวม 25,000 ล้านบาทต่อปี จากปีก่อนจัดเก็บภาษีได้ 22,000 ล้านบาทต่อปี

“ขณะนี้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับหน้าร้อนทำให้น้ำอัดลมขายดี นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวาน ช่วยทำให้รายได้มากขึ้น เห็นได้จากก่อนนี้กรมฯ มีรายได้เพียง 18,000 ล้านบาทต่อปี แต่พอขึ้นภาษีน้ำหวานเดือนกันยายน 2560 กรมฯ จัดเก็บรายได้เงินเพิ่มถึง 22,000 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท” นายณัฐกรกล่าว

นายณัฐกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับลดปริมาณความหวานลง เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีใหม่ โดยพบว่าน้ำอัดลมยังมีค่าความหวานเฉลี่ยยังอยู่ที่ 12 กรัมต่อ100 มิลลิลิตร จาก 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร โดยในกลุ่มน้ำอัดลมสีดำ อาทิ โค้กและเป๊ปซี่ ยังไม่ได้มีการปรับสูตร เนื่องจากเป็นสูตรเป็นมาตรฐานทั่วโลก จึงต้องคงรสชาติและปริมาณความหวานให้คล้ายกันทั่วโลก การปรับความหวานลงเฉพาะประเทศไทยจึงทำได้ยาก อย่างไรก็ตามกลุ่มน้ำดำมีการออกผลิตภัณฑ์ประเภทซีโร่ คือไม่มีน้ำตาลผสมอยู่แต่ไม่ได้รับความนิยม จึงทำให้กลุ่มนี้ยังมีค่าความหวานในระดับเดิม ต้องเสียภาษีสูงกว่าน้ำสี

“กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่ม ไม่ค่อยปรับเปลี่ยนค่าความหวานให้ลดลงมากนัก มองว่ารัฐบาลยังไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยออกมา คนซื้อน้อย จึงเลือกผลิตแบบเดิม ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลพูดคุยกับเอกชนผู้ค้าปลีก ในเรื่องการวางสินค้าบนชั้นวางให้ผู้บริโภคเห็นได้ง่ายขึ้น “นายณัฐกรกล่าว

นายณัฐกร กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีความหวานในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เครื่องดื่มในกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.5 บาท/ลิตร หรือ กลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร และกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร ถ้าดูตามค่าความหวานในเครื่องดื่มปัจจุบันภาษีปรับขึ้นประมาณ 50สต.-1 บาท/ลิตร หรือเครื่องดื่มขนาด 230 ซีซีภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สต./กล่อง ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะขึ้นราคาหรือไม่ อย่างไรก็ตามการปรับภาษีความหวานเมื่อ 2 ปีก่อน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นราคา แต่ปรับลดขนาดลง

นายณัฐกร กล่าวว่า นอกจากนี้ช่วงเดือนธันวาคม 2561-มกราคม2562 กรมฯ พบว่า ยอดขายเบียร์ และสุรา เพิ่มสูงขึ้น ดูจากยอดจำนวนที่มาชำระภาษี ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์2562 คาดว่าการจัดเก็บรายได้จะลดลงเล็กน้อย เพราะเลยช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ส่วนในช่วงเดือนเมษายน2562 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย จะต้องรอดูทิศทางในเดือนมีนาคมนี้ว่าจะมีผลจัดเก็บมากน้อยแค่ไหน

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์