“บิ๊กตู่”สั่งเฝ้าระวัง7จังหวัดแล้งหนัก หาแหล่งน้ำใต้ดินสำรองประปาขาด

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
สถานการณ์น้ำเริ่มเข้าสู่ภาวะคับขัน หลังผ่านไป 2 เดือนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไปแล้ว 72% แถมปลูกข้าวเกินแผน 280,000 ไร่ “บิ๊กตู่” สั่งเฝ้าระวัง 7 จังหวัดขาดน้ำอุปโภค-บริโภค เร่งให้ชี้เป้าแหล่งน้ำสำรองทำน้ำประปา ด้านประปาภูมิภาคเฝ้าระวัง 20 จว.พบบางพื้นที่ของ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เรียกประชุมทุกหน่วยงาน หลังการติดตามสถานการณ์น้ำภายในประเทศพบว่า ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2557 และมีพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางส่วน จึงขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

จัดสรรน้ำแล้งไปแล้ว 72%

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญยังส่งผลต่อเนื่องไปจนวันที่ 1 พฤษภาคม โดยปริมาณฝนจะต่ำกว่าปกติ 10% และจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 23,202 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง ปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,277 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำอื่น ๆ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาตรน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 26,617 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2561/2562 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 ได้วางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 16,584 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 คงเหลือปริมาตรน้ำที่ต้องจัดสรรจากแผนอีกเพียง 6,516 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 28 โดยปริมาณน้ำคงเหลือจำนวนนี้มั่นใจว่าจะมีเพียงพอตลอดฤดูแล้ง และยังมีปริมาณ “น้ำสำรอง” น้ำต้นฤดูฝนปี 2562 ปัจจุบัน 20,101 ล้าน ลบ.ม.

ด้าน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 12 มีนาคม 2562 ปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างรวมกัน 25,174 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 14.18 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 130.49 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,333 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 โดยมีเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 315 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 และยังต้องเฝ้าระวังอีก 14 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (น้ำใช้การได้ 3,703 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 38), เขื่อนแม่กวงอุดมธารา (98 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 39), เขื่อนสิริกิติ์ (2,922 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 44), แควน้อยบำรุงแดน (393 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 44), เขื่อนจุฬาภรณ์ (43 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 34), เขื่อนลำปาว (632 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 34), เขื่อนลำพระเพลิง (57 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 37), เขื่อนมูลบน (50 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 37), เขื่อนลำแซะ (126 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 47), เขื่อนขุนด่านปราการชล (86 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 39) และเขื่อนคลองสียัด (150 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 38)

แต่จากการติดตามสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การเหลือน้อยมากจนอยู่ในขั้นวิกฤต ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5, เขื่อนสิรินธร 112 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, เขื่อนกระเสียว 26 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 และเขื่อนทับเสลา 23 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 เท่านั้น

บิ๊กตู่สั่งเฝ้าระวัง 7 จังหวัด

ในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียม 4 มาตรการเร่งด่วนรับมือฤดูแล้ง ประกอบด้วย 1) แจ้งเตือนเกษตรกรงดปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เกินแผนไปกว่าล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย 21 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงแล้งเป้าหมาย 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่-นครสวรรค์-ชัยภูมิ-นครราชสีมา-เลย-กาญจนบุรี-ราชบุรี โดยให้จังหวัดชี้เป้าแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินในรัศมี 50 กม. เพื่อเตรียมแผนสำรองกรณีต้องดึงน้ำจากแหล่งน้ำอื่นใกล้เคียงมาสนับสนุน 3) ให้ทบทวนแผนการจัดการน้ำให้ประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นผู้พิจารณาการใช้อย่างรัดกุมและใช้อย่างจำกัด และ 4) ปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกรณีที่มีการปรับแผนการจัดสรรน้ำ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ

ที่น่ากังวลที่สุดในขณะนี้ก็คือ ปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค หรือ “น้ำดิบ” มีไม่เพียงพอ จึงสั่งการให้การประปาฯทั่วประเทศเตรียมแผนน้ำสำรองในช่วงที่จะมีการใช้น้ำมากเกินความต้องการ โดยเฉพาะ 2 จังหวัดเสี่ยงแล้งและขาดแคลนน้ำดิบมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ และนครราชสีมา โดยจะขอความร่วมมือเอกชนและกรมน้ำบาดาลขุดเจาะแหล่งน้ำสำรอง พร้อมทั้งให้การประปาฯไปทำแผนข้อมูลบัญชีผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอย่างเร่งด่วน

ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2561/2562 ได้เพาะปลูกไปแล้ว 5.58 ล้านไร่ ขณะที่แผนการเพาะปลูกกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5.30 ล้านไร่ หรือเท่ากับปลูกเกินแผนไปแล้วคิดเป็น 110.35% จึงขอให้ชาวนางดทำนาปรังรอบที่ 3 เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้เพียงพอ

กปภ.เฝ้าระวัง 20 สาขา

มีรายงานข่าวจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เข้ามาว่า มีสาขาของ กปภ.จำนวน 20 สาขา ได้เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ กปภ.สุวรรณภูมิ (แหล่งน้ำ-ลำน้ำเสียวใหญ่) อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ เริ่มใช้มาตรการจ่ายน้ำเป็นเวลา ส่วนอีก 19 สาขาต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ พยัคฆภูมิพิสัย (ลำพังซู) จ.มหาสารคาม, ภูเก็ต (อ่างบางเหนียว/อ่างบางวาด) อ.กะทู้, เกาะพะงัน (คลองมะเดื่อหวาน) จ.สุราษฎร์ธานี, บุรีรัมย์ (อ่างห้วยจระเข้มาก) อ.เมือง, ชุมแพ น.สีชมพู (ลำน้ำพอง) อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น, หนองบัวลำภู (อ่างห้วยเหล่า) อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู, พิมาย (แม่น้ำมูล) อ.พิมาย/น.ห้วยแถลง-หิน (สระหนองตะโก) อ.ห้วยแถลง/น.เมืองคง (อ่างห้วยตะคร้อ) อ.คง จ.นครราชสีมา,

แม่ขะจาน น.วังเหนือ (แม่น้ำวัง) อ.วังเหนือ จ.ลำปาง, แม่แตง น.ปาย (แม่น้ำปาย) อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, ฝาง น.แม่อาย (แม่น้ำฝาง) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, นครไทย (แม่น้ำแควน้อย) อ.นครไทย จ.พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ (สระเก็บน้ำศูนย์วิจัยอาหารสัตว์) อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์, ศรีสัชนาลัย (แม่น้ำยม) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย, จันทบุรี เขตจ่ายน้ำสอยดาว (คลองปะตง) อ.สอยดาว จ.จันทบุรี, พนัสนิคม น.บ่อทอง (สระเก็บน้ำบ่อทอง) อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี, บางปะกง (คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต) อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา, ฉะเชิงเทรา (คลองท่าไข่) อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และตะกั่วป่า (คลองทุ่งมะพร้าว) อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

คลิกอ่านเพิ่มเติม ดาวเทียมสแกนพื้นที่ปลูกข้าวนอกเขตชลประทาน เสี่ยงเสียหายกว่าแสนไร่! จากภัยแล้ง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!