ประชุมอาเซียน AEM ชู “สตูล” ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ในการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ที่ จ.ภูเก็ตนั้น ไทยจะมีการผลักดัน วาระเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน เป็น 1 ใน 13 ประเด็นหารือ โดยหลักการสำคัญจะต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยจะต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานการประชุมอาเซียน เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอให้จัดทำแผนแม่บทเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน โดยกำหนดให้เส้นทางสตูล-เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย หรือเส้นทางพารานากันเป็นเส้นทางนำร่อง เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งโดยปกติแล้วการท่องเที่ยวเชิงอาหารสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือประมาณ 456 พันล้านบาท

ส่วนกรณีเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นที่ จ.สตูล และ จ.พัทลุง ในคืนวันที่ 9 มีนาคม 2562 ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเตรียมความพร้อมการจัดประชุมอาเซียน ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่อาจจะส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยา แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และทาง จ.สตูล เพิ่งได้รับข่าวดีในการจัดอันดับเป็นเมืองอากาศดีที่สุดอันดับ 4 ในอาเซียน

ปัจจัยลบทุบนักท่องเที่ยววูบ

นายอมรินท์ ศาลากิจ ผู้ประกอบการบันดาหยารีสอร์ท และตัวแทนชมรมผู้ประกอบการหลีเป๊ะ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะหลีเป๊ะ ลดลงประมาณ 20-30% โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ซึ่งเดิมจะมียอดการจองสูง แต่ปัจจุบันลดลงจากหลายสาเหุตทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเดิมซึ่งเป็นชาวยุโรปลดลง และเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในชมรมที่มีอยู่ประมาณ 100 ราย ได้รับผลกระทบ

“การท่องเที่ยวหลีเป๊ะมีการจ้างงานนับพันคน สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้จังหวัดสตูล แต่ปัจจุบันลดลง 20-30% จากปกติที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละ 3-4 แสนคน และเคยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท เมื่อ 3 ปีก่อนแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4,000 ล้านบาท อีกด้านหนึ่งการแข่งขันธุรกิจรีสอร์ตรุนแรงมากขึ้นจากโรงแรมขนาดเล็ก หรือโฮสเทล ซึ่งดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่อัตราค่าพักราคาต่ำกว่าโรงแรม/รีสอร์ต แต่ใช้ทรัพยากรเท่ากับโรงแรม/รีสอร์ต จากเดิมที่เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ”

เชียร์คลอดแพลตฟอร์มท่องเที่ยว

นายรชฏ สันทัดการ กรรมการผู้จัดการ โรงแรมไอดิลลิค คอนเซ็ปท์ รีสอร์ท เกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการจองห้องพักให้ได้รับการยอมรับจากระดับสากลโดยเร็วเพราะปัจจุบันผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องอาศัยแพลตฟอร์มจากต่างประเทศถึงประมาณ 80% ซึ่งแต่ละรายได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการจากผู้ประกอบการคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของราคาห้องพัก

โดยเริ่มจากการคิดค่าธรรมเนียม 15% และหากต้องการให้รีสอร์ตอยู่หน้าแรกของเพจก็ต้องเพิ่มอีก 5% นอกจากนี้ยังมีการหักส่วนลดต่าง ๆ ไปใช้เป็นส่วนลดให้ลูกค้าด้วย ดังนั้น หากไทยสามารถยกระดับแพลตฟอร์มของไทยเองก็จะช่วยให้มีทางเลือกมากขึ้น

ชูจุดแข็ง “ชุมชนชาวเล”

นายทวี ศรีอำภรณ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย เปิดเผยว่า แนวทางการในส่งเสริมการท่องเที่ยวสตูลจะต้องยกระดับเรื่องการเดินทางซึ่งเดิมได้มีการเสนอแนวทางให้มีการ

สร้างสนามบินสตูล เพื่อให้นักท่องเที่ยวบินตรงมาลงที่ จ.สตูล เพราะปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวสามารถมาได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางหาดใหญ่-สตูล-ต่อเรือมาที่เกาะ 1.30 ชม. หรือทางเรือผ่านมาทางเกาะลังกาวี ใช้เวลา 1 ชม. แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการเดินหน้าต่อ ด้านที่สองจะต้องผูกโยงกับการท่องเที่ยว โดยชูจุดแข็งที่ จ.สตูลสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอาเซียนได้ ควรจะเน้นเรื่อง “ชุมชนชาวเล” ซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

บริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งทางตัวแทนชมรมผู้ประกอบการยอมรับว่าไม่สามารถปฏิเสธการไหลเข้ามาของธุรกิจตามระบบการค้าเสรีได้ โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาตั้งในเกาะ 2 แห่งแต่ธุรกิจเชนโรงแรมยังไม่เข้ามาลงทุน เพราะเทียบแล้วน่าจะยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้เที่ยว 6 เดือน/ปีส่วนหนึ่งเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน