บอร์ดบีโอไอไฟเขียวให้ “มิตซูฯ” ผลิตรถไฮบริด PHEV เงินลงทุน 3,130 ล้าน

บอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า PHEV ให้ค่ายมิตซูบิชิ พร้อมเห็นชอบให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอนุมัติในหลักการให้การส่งเสริมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
​​

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ​​ที่ประชุมเห็นชอบให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicles – PHEV) แก่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,130 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี โครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากบริษัทมิตซูที่อนุมัติไปวันนี้แล้ว PHEV ยังรอการอนุมัติอีก 4 โครงการ

สำหรับตัวเลขการอนุมัติไปแล้ว HEV ไปแล้ว 4 โครงการ PHEV รวมของบริษัทมิตซูบิชิ ฯ ที่อนุมัติไปในวันนี้ รวม 4 โครงการและ BEV อนุมัติไปแล้ว 1 โครงการ รวมตัวเลขการอนุมัติไปแล้วที่เกี่ยวกับการยานยนต์ไฟฟ้า 9 โครงการ วงเงินลงทุน 51,550 ล้านบาท แบตเตอร์รี่อนุมัติไปแล้ว 10 โครงการ วงเงินลงทุน 6,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการที่ค้างการพิจารณาอยู่ ได้แก่ กลุ่ม PHEV BEV และ EV Bus และยังมีแบตตเตอร์รี่ที่อยู่ระหว่างอยู่เข้ามาเพิ่มเติมและรอการอนุมัติ 1400 ล้านบาท และ Sutting station 36,000 ล้านบาท

และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคให้เป็นแหล่งรองรับและเสริมสร้างการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) คณะกรรมการจึงเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา)
​​
สำหรับกิจการใดที่เป็นกิจการเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีไอ แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ โดยจะต้องยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการEECi ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 และย้ายไปตั้งอยู่ในเขต EECi ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทแล้ว ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ถึง 4 ปี และบางกิจการจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมอีกด้วย
​​
สำหรับกิจการเป้าหมายที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าวได้ เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) บริการออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน สถานฝึกฝนวิชาชีพ กิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เป็นต้น
​​
“ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ดังนั้น การกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยทำให้นักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มเติม ยังจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคมีโอกาสในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นได้ต่อไปในอนาคต” นางสาวดวงใจกล่าว

ทั้งนี้บอร์ดยังได้อนุมัติในหลักการแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน สำหรับกิจการที่ได้รับสัมปทาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ทั้งนี้ รวมกันไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ทั้งนี้ รฟม. จะต้องระบุสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไว้ในประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประมูลทุกรายทราบโดยทั่วกัน