บิ๊กตู่นั่งบอร์ด BOI โค้งสุดท้าย ไฟเขียวแจกสิทธิประโยชน์ 3 บิ๊กโปรเจ็กต์

บอร์ดบีโอไอทิ้งทวนอนุมัติ 3 อุทยานวิทย์ เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สิทธิประโยชน์เท่า EEC แต่ต้องยื่นขอภายในปีེ ก่อนย้ายเข้า EECi ในปีཽ หากเบี้ยวปรับลดสิทธิทันที

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้อนุมัติให้พื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (เชียงใหม่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (สงขลา) เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยยื่นขอรับสิทธิ์เพิ่มตามมาตรการ EECi ภายใน 30 ธ.ค. 2562 และย้ายเข้าพื้นที่ EECi ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ภายใน 30 ธ.ค. 2565

“กิจการที่เป็นกิจการเป้าหมายในพื้นที่ EECi แต่ไปตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 3 แห่งนี้ จะได้สิทธิ EEC คือเป็นอุตสาหกรรม S-curve ได้รับยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี บวกลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี แต่หากถึงวันที่ EECi ก่อสร้างเสร็จแล้ว นักลงทุนไม่ย้ายไป EECi ด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม จะถูกปรับลดสิทธิลง เช่น กิจการที่ได้การยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 13 ปี จะถูกลดเหลือ 8 ปี”

นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2-4 ปี บางกิจการจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 5 ปี เพิ่มเติมอีกตามการพิจารณาของคณะกรรมการ

ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจากสงครามการค้า มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของนักธุรกิจ ซึ่งไทยเป็นอีก 1 ประเทศที่นักธุรกิจอาจจะย้ายฐานมาลงทุน และมีศักยภาพเพียงพอรองรับ จะเห็นได้ว่าจีนมีโอกาสมาลงทุนที่ไทยสูงขึ้น ขณะเดียวกันตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) พบว่าอเมริกามาเป็นอันดับ 1

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 3,130 ล้านบาท ที่ จ.ชลบุรี โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า


ทั้งได้อนุมัติหลักการแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการที่ได้รับสัมปทานจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ทั้งนี้ รวมกันไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ทั้งนี้ รฟม.ต้องระบุไว้ในทีโออาร์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประมูลทุกรายทราบ