ฝันค้าง EURO 5 แก้ฝุ่น ค่ายรถ-โรงกลั่น ขอเวลาอีก 2 ปี

อีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 รถยนต์ทุกรุ่นจาก 12 ค่ายที่ผลิตขายในประเทศ จะต้องปรับระบบเครื่องยนต์เพื่อรองรับน้ำมันมาตรฐานยุโรป หรือ EURO 5 ทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการแก้ไขวิกฤตมลพิษทางอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกินค่ามาตรฐานในปี 2562 แต่ทว่าการพัฒนาไปสู่ระบบดังกล่าวยังต้องอาศัยระยะเวลาปรับตัว

12 ค่ายรถพร้อมปี”64

การลดปัญหาเรื่องของฝุ่นละอองได้กลายเป็นวาระแห่งชาติในทันที ไม่เพียงการควบคุมปริมาณการเผาป่า การปล่อยควันจากกระบวนการผลิตโรงงาน ขณะเดียวกัน สังคมได้ถูกมุ่งเป้าไปยังการปล่อยควันจากยานพาหนะ ให้เป็นจำเลยที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด “นายสมชาย หาญหิรัญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์เทียบเท่า EURO 5 (มอก. EURO 5) ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2564 ที่จะกำหนดค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm รวมถึงกำหนดค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น

โดยล่าสุดมีค่ายรถยนต์ 12 แบรนด์ ประกอบด้วย Audi, BMW, Isuzu, Mazda, Mercedes-Benz, Mitsubishi, Mini, MG, Nissan, Suzuki, Toyota และ Volvo พร้อมที่จะปรับมาตรฐานเครื่องยนต์และผลิตรถยนต์ทุกรุ่นเพื่อขายในประเทศให้เป็นไปตาม มอก. EURO 5 ในปี 2564 จากนั้นมาตรฐาน EURO 6 จะออกมาบังคับในปี 2565 ต่อไป

สอดคล้องกับกระทรวงพลังงานที่มีเป้าหมายว่า ในอีก 2 ปี หรือปี 2564 กำลังการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐาน EURO 5 ของโรงกลั่นทั้งหมด 6 แห่ง ทั้งโรงกลั่นไทยออยล์ IRPC เอสโซ่ บางจาก SPRC และเชลล์ จะต้องผลิตน้ำมันและขายน้ำมันยูโร 5 ในสถานีจ่ายน้ำมันได้ครบทั้งหมด 100% ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐาน EURO 5 โดยผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ทั้งนี้ จะต้องยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562

หวังมาตรการรัฐช่วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมเอกชนมองว่าการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานยูโร 5 ยังต้องใช้เวลา “นายครรชิต ไชยสุโพธิ์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อผลิตรถยนต์ให้สามารถรองรับมาตรฐาน EURO 5 และต้องทันก่อนที่ มอก. EURO 5 จะบังคับใช้ปี 2564 เนื่องจากรถยนต์ที่ส่งออกเป็นมาตรฐาน EURO 5 และ EURO 6 อยู่แล้ว และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จำเป็นต้องให้เวลาเตรียมความพร้อม เพราะเครื่องยนต์ที่ผลิตระหว่างขายในประเทศและส่งออกมันต่างกัน ทั้งชิ้นส่วน

ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็น EURO 5 จะมีเรื่องของระบบหัวฉีดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยรถที่ใช้น้ำมันดีเซลจำเป็นที่ต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่ารถที่เป็นเบนซิน และมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 30,000-40,000 บาท/คัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของค่ายรถแต่ละแบรนด์ว่าจะบริหารจัดการให้ต้นทุนสอดคล้องกับราคา หรืออยู่ที่ภาครัฐว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยผู้ประกอบการลดภาระนี้ และเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาตรการภาษีสรรพสามิตลดลง 1-2% สำหรับรถประเภทปิกอัพ ซึ่งจะช่วยได้ส่วนหนึ่งทำให้ ต้นทุนลดลงได้ประมาณ 10,000 บาท/คัน หากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือที่มากขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่ต้องแบกรับภาระ ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการอัดเข้ามาช่วยอีกในระหว่างที่ EURO 5 กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้

โดยขณะนี้ผู้ผลิตทุกค่ายพยายามศึกษาและเริ่มปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์กันแล้ว โดยเฉพาะบางค่ายมีความพร้อม แต่แน่นอนว่าเอกชนจะต้องรอดู มอก. EURO 5 ที่จะกำหนดออกมาอย่างชัดเจนก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าประเภทเครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์ไบโอดีเซล เครื่องยนต์ CNG หรือแม้แต่เอทานอลที่เราห่วงที่สุด และวิธีการทดสอบ จะออกมาเป็นอย่างไร และควรที่จะประกาศออกมาพร้อมกัน เพื่อเอกชนจะได้กำหนดแนวทางการผลิตได้ เพื่อจะได้ปรับการผลิตตั้งไลน์การผลิตให้สอดคล้องกับ มอก. EURO 5

โตโยต้าหวั่น EURO 6 ล่าปี”65

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ของไทยยังเป็นมาตรฐาน EURO 4 ซึ่งการปรับเปลี่ยนไปเป็นสู่เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 ภายในปี 2564 เช่นเดียวกับต่างประเทศ เพื่อลดการปล่อยฝุ่นพิษลง 80% นั้น ทางโตโยต้าสามารถดำเนินการได้ทัน เพราะปัจจุบันมีการผลิตรถยนต์ที่รองรับ EURO 5 เพื่อส่งออกอยู่แล้ว ส่วนการจะปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐาน EURO 6 ในปี 2565 นั้น ยังคงต้องรอดูความพร้อมในการผลิต โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องรองรับการเผาไหม้เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่น รวมถึงการพัฒนาน้ำมันที่จะมารองรับว่ามีความพร้อมแล้วหรือยัง จึงยังต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวของค่ายรถยนต์พอสมควร