พาณิชย์ เผย ส่งออกสินค้าเดือน กพ. โต 5.91% ครั้งแรกจากเดือนที่ผ่านมา ผลมาจากสงครามการค้าดีขึ้น

พาณิชย์ เผย ส่งออกสินค้าเดือน กพ. โต 5.91% ครั้งแรกจากเดือนที่ผ่านมา ผลมาจากสงครามการค้าดีขึ้นไทยรับอานิสงค์ส่งออกสหรัฐเพิ่ม รวมไปถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากนี้พร้อมอัดกิจกรรมเร่งส่งออกเต็มที่

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 21,553 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.91% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีมูลค่า 18,993 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.65 โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรก ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10.03% ส่งผลให้การค้า เกินดุล 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อดูการส่งออก 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) มีมูลค่า 40,547 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.16% ส่วนการนำเข้า 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) 40,545 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือนนี้ขยายตัว เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น บรรยากาศสงครามการค้าเริ่มลดความตึงเครียดลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง มาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยที่ทำให้ไทยหลุดจากใบเหลือง IUU และ TIP ที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้า เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ที่ช่วยผลักดันการส่งออกในเอเชีย แม้การส่งออกไปจีนเริ่มชะลอตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ กลับดีขึ้น สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน และการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 0.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา หดตัวต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและราคา ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป เป็นต้น ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 7.5% มาจากอาวุธและยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ และเมื่อพิจารณาถึงส่วนแบ่งของไทย และยังพบว่าไทยยังรักษาส่วนแบ่งในตลาดสำคัญไว้ได้ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นในญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย แสดงให้เห็นว่าการส่งออกไทยยังมีทิศทางที่ดี นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังมีแผนกิจกรรมส่งเสริมการค้า โดยเฉพาะ Sourcing Forum เพื่อจับคู่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้พรีเมียมระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทยจำนวนเกือบ 200 บริษัท ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมูลค่าการสั่งซื้อทั้งหมดกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกทั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฏาคม 2562 กระทรวงฯ ยังเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกกว่า 100 โครงการ และคาดว่าจะสร้างรายได้การส่งออกกว่า 65,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อ e-Marketplace ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการค้าจากท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global) แผนกิจกรรมเจาะตลาดศักยภาพเป็นรายมณฑล รัฐ และกระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าขยายโอกาสการค้าการลงทุนผ่านการสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับคู่ค้าศักยภาพ (Strategic Partnership) และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (International Business Network) เพื่อกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดหรือห่วงโซ่อุปทานใดเป็นหลักเพียงแห่งเดียว และสนับสนุนให้การส่งออกไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อไป