“คณิศ” ดัน 5โครงสร้างพื้นฐานเข้า ครม. ลงนามผู้ชนะประมูล เม.ย. ก่อนมีรัฐบาลใหม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงผลงาน 2 ปี ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้จัดทำ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ขึ้นมา และกำหนด 5 โครงสร้างพื้นฐานมูลค่าประมาณ 650,000 ล้านบาทขึ้นมา ผ่านรูปแบบการลงทุน PPP ที่จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยทุกโครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ,สนามบินอูตะเภาและเมืองการบิน, ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO), ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3, ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่ต้องเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ภายในเดือน เม.ย.2562 นี้ และลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลให้ทันก่อนการตัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ขณะที่การดำเนินงานส่วนอื่น ยังคงต้องขับเคลื่อนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งที่ผ่านมา 2 ปี เห็นชัดจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบจากปี 2560 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 เป็นประมาณ 4.2% ในปี 2561 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปี ติดต่อกัน
โดยจากนี้ภารกิจในปี 2562 คือการเดินเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ในการทำงานปีที่ 3 ของ อีอีซี รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้เร่งดำเนินการ 5 เรื่อง

1) ยืนยันให้ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักได้ผู้ลงทุนในเดือนเมษายน 2562 เพื่อให้เกิดการลงทุน 650,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

2) เร่งรัดการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี ซึ่งจะสร้างงานใหม่ รายได้ดี ไม่น้อยกว่า 450,000 ตำแหน่ง ให้กับเยาวชนไทย รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถดูแลประเทศด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการศึกษา ประสานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IoT และ start-up และสานต่อการใช้การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวคุณภาพ

3) เดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม (อากาศ น้ำ ของเสีย) ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน

4) จัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยี และ เมืองอัจฉริยะ โดยประสานงานให้ EECi และ EECd เป็นไปตามแผน วางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบัง และเกาะสำคัญ (เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด) และสร้างระบบการกำกับดูแลการพัฒนาของมหานครการบินภาคภาคตะวันออก

5) สร้างประโยชน์ให้ถึงประชาชน และทำความเข้าใจกับชุมชนและประชาชน ให้เกิดความความรู้และความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม

“อีอีซี ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพและประชาชนในอีอีซี ที่สำคัญคือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทย สู่ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยการสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน”