ทช.ปราบเรือผิดกฎหมายคึกคัก รองอธิบดีชี้ประวัติศาสตร์ปฏิรูปประมงไทยหนทางปลดใบเหลืองไอยูยู-เพิ่มทรัพยากรทะเล

วันที่ 30 สิงหาคม นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อวางแผนบูรณาการตรวจเรือประมงเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายโสภณกล่าวว่า การทำประมงผิดกฎหมายกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย เพราะเกี่ยวเนื่องกับ “มาตรการการจัดระเบียบด้านประมง”

โดยสหภาพยุโรป (Europe Union) ที่มองว่าการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ Illegal, Unregulated and Unreported (IUU) Fishing จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ นั่นก็คือ สัตว์น้ำ ที่สำคัญหากไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและควบคุมดูแลการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในมหาสมุทรแล้ว ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำจะไม่หมดไป สหภาพยุโรปมองว่าการทำประมง IUU เป็นการลดทอนและทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางทะเล จนเราอาจไม่มีเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

นายโสภณกล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป โดยกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทยเกี่ยวกับการทำประมง IUU ระบุว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

คำเตือนดังกล่าวยังแนะนำให้ไทยเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทยให้เป็นไปตามหลักสากล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและจะต้องเป็นการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณ แม้ว่าจะเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำของเราก็ตาม

“ถ้าไทยไม่ทำการประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลก็มีสิทธิโดนใบแดง ไทยจะถูกระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณอาการทะเลแช่แข็งต่างๆ ที่เข้าสู่กลุ่มสหภาพยุโรปทันที ซึ่งจะเป็นหายนะขั้นวิกฤตอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของชาติ เพราะแต่ละปีไทยส่งสินค้าสัตว์น้ำเข้าสู่สหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศอื่นๆ ถึงปีละหนึ่งแสนล้านบาท จากแนวโน้มวิกฤตครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมประมงของไทยในครั้งนี้ สถานการณ์และปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยกลไกของการบังคับใช้กฎหมายอย่างครอบ คลุมและเคร่งครัด เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คงไว้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ต่อไปและไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น โดยผมได้รับมอบหมายจาก น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดี ทช.ให้เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการฯ นำเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อควบคุมป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายและบุกรุกทำลายแหล่งทรัพยากรทางทะเล ไม่ให้เรือประมงเข้ามาลักลอบทำการประมงและทำลายทรัพยากรทางทะเลที่กฎหมายกำหนดทั้ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ.2558 มีการลาดตระเวนประสานการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ” นายโสภณกล่าว

รองอธิบดีทช.กล่าวว่า ผลจากการปฎิบัติการของ ทช.ที่ได้ส่งเรือตรวจการออกปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงเดือน สิงหาคม 2560 โดยได้ออกปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 56 ลำลาดตระเวนจำนวน 109 ครั้ง ได้ตรวจสอบเรือกว่า 551 ลำ ดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 83 คดี ได้ผู้ต้องหา 75 คน เครื่องมือในการทำความผิด มีทั้งการใช้อวนรุน อวนลาก อวนล้อม คราดหอยและอื่นๆ เช่น โพงพาง ลอบพับได้ อวนติดตา เป็นต้น

“ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคมนี้ ผมจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่ จ.สงขลา ชุมพรและระยอง โดยได้มอบหมายให้นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ 1 เฝ้าระวังกลุ่มเรื่อสุ่มเสี่ยง ที่ได้รับแจ้ง ศปมผ. เป็นพิเศษ ก่อนที่สหภาพยุโรป จะทำการประเมินไทยใหม่อีกครั้งหนึ่งการทำประมงเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพราะขณะนี้จากผลการแจ้งเตือนยังไม่มีผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำของไทยเพื่อส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแต่อย่างใด” นายโสภณกล่าว

รองอธิบดี ทช.กล่าวว่า ทช.ได้ดำเนินการตามกิจกรรมปฏิบัติการบูรณาการร่วมกับศูนย์ป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 2 (ศปมผ. เขต 2) ตรวจเรือประมง จำนวน 101 ครั้ง จำนวนเรือ 246 ลำ จำนวนชาวประมง 2,705 คน พบเรือประมงกระทำความผิดกฎหมายการทำการประมง จำนวน 17 คดี จำนวนผู้ต้องหา 9 คน ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้ลอบพับตัวหนอน หรือไอ้โง่ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 14 คดี ผู้ต้องหา 9 คน คดีเกี่ยวกับการรื้อถอนโพงพาง จำนวน 1 คดี และในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จำนวน 2 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับการรื้อถอนโพงพาง โดยได้ดำเนินการให้สถานีตำรวจภูธรในแต่ละเขตพื้นที่เป็นผู้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

“ในฐานะที่ ทช.เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) ซึ่ง ศรชล.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. นั้น ทช.ได้กำชับให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 7 เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางของ ศปมผ. อย่างเข้มข้น โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจการเข้าออกของเรือประมง (Port In/Port Out) การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ (VMS) กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอส ขึ้นไป และการตรวจการใช้แรงงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย เรื่องนี้ถือเป็นการปฎิรูปการทำประมงในรอบร้อยกว่าปร ทช.ภาระกิจดังกล่าว นอกจากจะช่วยส่งผลให้การประเมินของสหภาพยุโรป (EU) ในอนาคตจะสามารถปรับสถานะใบเหลืองของประเทศไทยแล้วจะทำให้ท้องทะเลไทยมีศักยภาพที่จะผลิตสัตว์น้ำให้มีความสมดุลเพิ่มขึ้นด้วย” รองอธิบดี ทช. กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์