ยุติศึกตลาดกลางข้าวสาร ศาล “ยกคำร้อง” ตลาดไท

“กรมการค้าภายใน” โล่งหลังศาลปกครองยกคำร้องตลาดไทฟ้องพาณิชย์ให้ชนะร่วม 2 ราย ปิดฉาก “ตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของไทย” หลังยื้อมา 3 ปี หันใช้วิธีส่งเสริมผู้ประกอบการแทน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปัญหาการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทย ได้ “คลี่คลายลงแล้ว” หลังศาลปกครองพิจารณา “ยกคำร้อง” ตลาดไท หรือบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ที่ยื่นฟ้องอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ระงับผลพิจารณาคัดให้ตลาดไท และตลาดต่อยอดเป็นผู้ชนะการเสนอขอจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารร่วมกัน

ทั้งนี้ การยกเลิกการพัฒนาตลาดกลางนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินการ เพราะทางกรมยังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาโครงการดังกล่าว “ผมได้คุยกับทางทีมงานว่าต่อไปการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรจะเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านโครงการตลาด โดยทางตลาดไทหรือตลาดต่อยอดจะเข้าร่วมก็สามารถทำได้”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการตลาด เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการตลาดทั้ง 2 ราย ได้ยุติการจัดทำแผนโปรโมตโครงการตลาดกลางข้าวสารที่ดำเนินการไว้ทั้งหมด และกลับไปซื้อขายในระบบปกติ และไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง

รายงานข่าวระบุว่า แนวคิดจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ในโอกาสที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางร่วมคณะ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเยี่ยมชมตลาดกลางข้าวสารในประเทศจีน จึงมอบกรมการค้าภายในได้จัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2560 โดยกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีสถานที่และมีระบบการบริหารจัดการตลาด ส่วนภาครัฐจะช่วยงบประมาณประชาสัมพันธ์และเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้ซื้อปลายทาง 10 ล้านบาท ปรากฏว่ามีผู้เสนอชื่อเข้าร่วมโครงการ 3 ราย ได้แก่ ตลาดไท โดยบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด, บริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด ผู้ประกอบการท่าข้าวเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี และกลุ่มตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอดของบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ และในรอบแสดงวิสัยทัศน์ได้คัดเลือกให้เหลือเพียง ตลาดไท และตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอด ก่อนกลับมาเจรจาอีกครั้งในเดือนก.ย. 2560 และประกาศให้ตลาดทั้ง 2 แห่งเป็นผู้ชนะร่วมกันในเดือนพ.ย.2560

โดยให้เหตุผลว่า แต่ละรายมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน และให้ทั้ง 2 รายมาลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนเม.ย. 2561 แต่ “ตลาดไท” ไม่พอใจจึงยื่นฟ้องศาลปกครองนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561