เอฟทีเอ ดัน ส่งออกผลไม้ไทย ไปอาเซียนกระฉูด 6,429%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมฯได้ติดตามผลการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังตลาดโลก พบว่าปี 2561 ส่งออกได้มูลค่ารวม 2,656 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.05% ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียนและจีน มีมูลค่า 2,132 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 80% ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก และผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นต้น ซึ่งไทยครองความเป็นผู้นำการส่งออกอันดับต้นของโลก

นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกผลไม้ที่เพิ่มขึ้นได้รับผลดีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และล่าสุดฮ่องกง ที่อยู่ระหว่างรอการมีผลบังคับ โดยเอฟทีเอได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับผลไม้ไทย จากการที่คู่ค้าได้ปรับลดภาษีนำเข้าให้กับไทย ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น และส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันภายใต้เอฟทีเอจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรของการนำเข้าสินค้าผลไม้สด ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งจากไทย ยังเหลือเพียงบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ยังเก็บภาษีศุลกากรการนำเข้าผลไม้บางชนิดจากไทย โดยญี่ปุ่นเก็บภาษีส้มในอัตรา 4% เกาหลีใต้เก็บภาษีมะม่วง 24% ทุเรียน 36% อินเดียเก็บภาษีส้ม 5% มาเลเซีย กัมพูชา และ สปป.ลาวเก็บภาษีมะม่วง มังคุด ทุเรียน ในอัตรา 5% เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในปี 2561 ในตลาดสำคัญ เช่น อาเซียนและจีน กับปีก่อนหน้าที่จะทำเอฟทีเอ พบว่า ตลาดอาเซียนปี 2561 ส่งออกได้มูลค่า 1,123 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6,429% เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่อาเซียนจะลดภาษีนำเข้าผลไม้ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และจีนส่งออกมูลค่า 1,009 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2,816% เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และยังสอดคล้องกับสถิติของกรมการค้าต่างประเทศที่พบว่าในปี 2561 สินค้าผลไม้ เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น

นางอรมน กล่าวอีกว่า กรมฯมีข้อแนะนำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ที่จะส่งออกผลไม้ไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีเอฟทีเอกับไทย จะต้องศึกษาและใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทย และต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน ให้สอดคล้องกับหลักสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการส่งออกผลไม้ปลอดสารพิษ ผลไม้ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และผลไม้ที่มีนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลไม้ไทย

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์